การเลี้ยงกระต่าย เนเธอร์แลนด์ดวอร์ฟ (Netherland Dwarf)

 กระต่ายหูตั้งแสนซน พันธุ์ “เนเธอร์แลนด์ ดวอร์ฟ” (Netherland Dwarf) เรียกกันสั้น ๆ ว่า ND เป็นกระต่ายพันธุ์ฮิตอันดับต้น ๆ ของวงการ ด้วยความน่ารักแสนซน โดดเด่นที่ใบหูเล็ก ๆ ที่ตั้งคู่ขนาน ทั้งยังมีขนสั้น แต่นุ่มมือ แถมมันวาวน่าสัมผัส

   ลักษณะที่ดีของกระต่ายพันธุ์นี้ก็คือ หูสั้นประมาณ 1 นิ้ว ตั้งขึ้นขนานกัน หรือหูยาวไม่เกิน 2 นิ้ว มีโครงสร้างสมส่วน โดยหัวและลำตัวควรมีสัดส่วน 1: 2 เมื่อกระต่ายนั่งจะมีลักษณะคล้ายลูกบอล 3 ลูก เรียงกัน และขนต้องสั้น หนาแน่น ไม่หยาบกระด้าง เมื่อลูบย้อนแนวเส้นขนจะคืนตัวได้เร็ว

          นอกจากนี้ ND ยังมีสีที่หลากหลาย แบ่งออกเป็นกลุ่มสีต่าง ๆ อาทิ กลุ่มสีพื้น (ขนสีเดียวกันตลอดทั้งตัว) กลุ่มสีเฉด (มีความเข้มของสีขนในแต่ละตำแหน่งของตัวไม่เท่ากัน ที่ชัดเจนคือ จมูกและขาทั้งสี่) บางตัวมีแต้มสีน้ำตาลแดงเข้ม เหมือนสีของแมววิเชียรมาศ เรียกสี ไซมีส ซาเบิ้ล (Siamese Sable) แต่หากในขน 1 เส้น ของกระต่ายมีมากกว่า 1 สี ในขนเส้นเดียวกัน จะจัดเป็น กลุ่ม สีขนอะกูติ (Agouti) เช่น สีชินชิลล่า เป็นสีเทาแซมดำที่ปลายขนเหมือนสีตัวชินชิลล่า หรือสีกระรอก คือเป็นขนสีเทา แต่มีสีเทาเข้มที่ปลายขน หรือถ้ากระต่ายมีมาร์กกิ้งหรือสีต่าง ๆ พาดที่คอ ก็จัดเป็นกลุ่มมีสร้อย ซึ่งแบ่งได้อีกหลายประเภท

          เรื่องนิสัยของเจ้าหูตั้ง แตกต่างกับพันธุ์หูตกอย่างสิ้นเชิง อาจเพราะรูปร่างที่เล็กคล่องตัวกว่า ND จึงได้รับการขนานนามว่าเป็นกระต่ายแสนซน ชอบวิ่ง ไม่ยอมหยุดเฉย หลายตัวขี้วีน ขี้หงุดหงิด ไม่ชอบให้ใครมาจับหรือวุ่นวาย ถ้าจนมุมก็จะข่วนแสดงอารมณ์ แต่ก็มีบางตัวเรียบร้อย บางตัวขี้อ้อน แต่โดยสัญชาตญาณของกระต่ายมักกลัวความสูง ผู้เลี้ยงจะต้องระวังให้มากในการอุ้ม ซึ่งการอุ้มที่ถูกวิธี ไม่ควรรวบหูกระต่ายแล้วหิ้วเป็นเด็ดขาด เนื่องจากเป็นประสาทส่วนสำคัญของกระต่าย ขณะที่การอุ้มอย่างถูกวิธีคือ การจับส่วนหนังบริเวณคอแล้วอุ้มก้นกระต่ายไว้ หรือจับนอนหงายอุ้มกระต่ายไว้ในอ้อมกอด กระต่ายจะนิ่งลง บางตัวแอบหลับไปเลยก็มี

          แม้จะรู้จักลักษณะและนิสัยของกระต่าย แต่ไม่ได้หมายว่าจะเริ่มเลี้ยงกันได้ง่าย ๆ เพราะต้องเข้าใจในเรื่องธรรมชาติของกระต่ายและการเลี้ยงที่เหมาะสมด้วย

   คุณปิยะลักษณ์ สาริยา หรือ คุณเดียว เจ้าของ “บันนี่ ดีไลท์” ฟาร์มกระต่ายพันธุ์ดี ในอำเภอท่ามะกา จังหวัดกาญจนบุรี บอกว่า คนที่คิดเลี้ยงกระต่าย ควรทราบวัตถุประสงค์ก่อนว่าจะเลี้ยงเพื่ออะไร ต้องการเลี้ยงเพื่อความสุขของคุณและกระต่าย หรือถ้าจะเลี้ยงเพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ในตำแหน่งบรีดเดอร์ ก็ต้องเลี้ยงอย่างบรีดเดอร์

          “ที่บันนี่ ดีไลท์ เราเริ่มจากสายพันธุ์ที่ดีเป็นหลักจึงใช้อาหารเกรดพรีเมี่ยม เลี้ยงในห้องแอร์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าใครก็ตามที่เลี้ยงกระต่ายต้องเลี้ยงในห้องแอร์ แต่ต้องมีอากาศถ่ายเท มีลมผ่านให้เขาได้ระบายความร้อน อย่างสุนัขระบายความร้อนด้วยลิ้น ที่เขาชอบอ้าปากแลบลิ้นแฮะ ๆ แต่หม้อน้ำระบายความร้อนของกระต่ายก็คือ หู เพราะฉะนั้นหากเขาต้องอยู่กับพื้นที่ที่ร้อนมาก สิ่งที่กระต่ายจะทำก็คือ ทิ้งขนหู ขนหูเขาก็จะบางลง และอาจจะมีผลไปยังรุ่นลูกหลานต่อไป คือหูจะยาวขึ้นเรื่อย ๆ เพราะระบายความร้อนไม่ทัน เขาก็จะต้องขยายหม้อน้ำขึ้นเรื่อยๆ นั่นหมายความว่าสิ่งแวดล้อมอาจมีผลต่อพัฒนาการของกระต่ายด้วย”

          ทั้งนี้ หูกระต่ายที่ยาวขึ้นอาจจะไม่เห็นผลชัดเจนในเวลาอันสั้น แต่การเลี้ยงในที่ที่ร้อนเกินไปจะเห็นผลทันตากับ ND ก็คือ สารเคลือบขนมัน ๆ หรือแวกซ์ที่กระต่ายจะปล่อยออกมาเพื่อสร้างความอบอุ่นและทำให้ขนนุ่มสวยจะลดน้อยลง อาจทำให้กลายเป็นกระต่ายขนหยาบ ไร้น้ำหนักได้

ไม่ว่าจะเลี้ยงด้วยวัตถุประสงค์ใดก็ตาม กระต่ายจะต้องมีสุขภาพดีและมีชีวิตที่ยืนยาว ตั้งแต่เริ่มต้นนำกระต่ายมาเลี้ยง ไม่ใช่แค่จับโยนเข้ากรง วางอาหาร แต่เจ้าของต้องสังเกตตั้งแต่อาหารเดิมจากร้านค้าหรือผู้เลี้ยงคนเก่า ควรขออาหารและภาชนะเดิมมาด้วย เพื่อลดภาวะเครียดจากการย้ายบ้าน ถ้าเป็นไปได้อย่าเพิ่งเห่อ อุ้มกระต่ายเล่น อดใจไว้สัก 2 วัน ค่อยทำความคุ้นเคยกับกระต่าย โดยให้ดมมือระหว่างให้อาหาร

ส่วนอาหารสำหรับกระต่าย ถ้าใครอุดหนุนคนขายกระต่ายที่ยังไม่หย่านมแม่ คงต้องปวดหัวหนัก เพราะรอดยาก กินอะไรก็มักท้องอืดตาย แต่ถ้าเป็นกระต่ายวัยมากกว่า 45 วัน หรือหย่านมแล้วก็ค่อยยังชั่ว แต่ระยะแรกผู้เลี้ยงใหม่ควรให้อาหารชนิดเดิมก่อน พอเข้าวันที่ 3 จึงให้อาหารใหม่ที่ต้องการผสมลงไป ราว 15-20% และค่อย ๆ เพิ่มให้เป็นอาหารใหม่ทั้งหมดภายใน 5-7 วัน แล้วสังเกตว่ากระต่ายยอมกินอาหารใหม่และท้องเสียหรือไม่ และอย่าเพิ่งให้อาหารอื่น ๆ นอกจากอาหารสำหรับกระต่ายเพื่อความปลอดภัย

          ถ้าครบ 7 วันอันตราย หลังจากย้ายบ้านใหม่ กระต่ายรอดและร่าเริง คราวนี้ก็เล่นทำความคุ้นเคยได้สบาย เน้นที่อาหารและน้ำที่สะอาด กรงสะอาด มีพื้นที่ออกกำลังอย่างเหมาะสม และได้รับการดูแลสุขภาพเป็นประจำ โดยสังเกตอาการทั่วไป อาทิ ท่านอนหมอบหลับแบบปกติไหม ดูการหายใจว่าจมูกกระดิกดี หรือมีเสียงฟืดฟาดหรือเปล่า ดมกลิ่นหูหรือสัมผัสว่าหูร้อนผิดปกติหรือไม่ กินอาหารน้อยลงหรือไม่ รวมถึงสังเกต “อึ” หรือมูลของกระต่าย ว่าลักษณะก้อนอึเป็นอย่างไร ถ้าปกติอึจะกลมโตและแห้งดี ไม่มีกลิ่น

          แต่ในกรณีที่ผู้เลี้ยงใช้ผักสด หรือหญ้าสดเป็นอาหาร อึอาจจะนิ่มได้ไม่น่ากลัวนัก แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่อึค่อนข้างเหลวประมาณยาสีฟัน หรือเหลวติดก้นเกรอะกรังแถมมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรืออึเป็นเม็ดแต่ออกมาพร้อมกับมูกเป็นเมือกขุ่นข้นติดเศษหญ้า ถ้าอย่างนี้ ให้รีบเก็บตัวอย่างใส่ถุงพลาสติคแล้วพาไปหาหมอให้เร็วที่สุด เพื่อการรักษาอย่างถูกต้อง กรณีนี้อาจเกิดจากความเครียดของกระต่าย เพราะเมื่อกระต่ายเครียดร่างกายจะขับสารเคมีบางอย่างออกมา ทำให้ภาวะของจุลชีพช่วยย่อยอาหารในกระพุ้งลำไส้ผิดปกติไป ความสมดุลของจุลชีพอันประกอบด้วยแบคทีเรีย โปรโตซัว และยีสต์ ในสำไส้ก็รวน อาจมีโปรโตซัวมากเกินปกติ กระต่ายก็ถ่ายเป็นมูกได้ กินยาเช้า-เย็น 5 วัน ก็หายสนิท

   อึกระต่ายอีกแบบที่ต้องทำความเข้าใจคือ “อึพวงองุ่น” อึแบบนี้ปลอดภัย เพราะเป็นความมหัศจรรย์ของระบบการย่อยของกระต่ายที่มักจะเกิดกับกระต่ายที่สมบูรณ์มาก มักถ่ายออกมาในเวลากลางคืน หากกระต่ายเหยียบจนเละมองไม่ออกให้สังเกตที่ก้นกระต่าย ถ้าไม่มีอึเหลวติดก้นก็ไม่ต้องตกใจ (แต่ถ้ามีอึพวงองุ่นกองไว้จำนวนมาก ควรลดอาหารเม็ดลง) ส่วนอึที่มีลักษณะเป็นก้อนกลมๆ แต่มีเส้นใยเชื่อมต่อกันเหมือนสร้อยไข่มุก นั่นหมายถึงการขับเส้นขนที่กระต่ายเผลอกลืนกินเข้าไปขณะกินอาหารหรือทำความสะอาดตัวเอง

          แต่ถ้ากระต่ายถ่ายเหลวที่เกิดจากอาหารสกปรกมีเชื้อบิดหรือเชื้ออีโคไล แบบนี้น่ากลัว พ่อกระต่ายและคุณเดียวจึงฝากย้ำเรื่องความสะอาดของกรงและอาหาร อย่างผักสดกระต่าย ควรให้เมื่อกระต่ายอายุ 3 เดือน แต่ด้วยความสมบูรณ์ของลูกกระต่ายของบันนี่ ดีไลท์ กระต่ายบ้านนี้จึงสามารถกินผักได้ในวัยไม่กี่สัปดาห์ คุณเดียวจึงต้องล้างผักให้สะอาดมาก ด้วยน้ำยาล้างผัก 1 รอบ ต่อด้วยโซเดียมไบคาบอเนตอีก 1 รอบ ล้างออกต่อด้วยน้ำสะอาดไหลผ่าน และล้างด้วยน้ำด่างทับทิมอีกรอบหนึ่ง เพื่อให้ผักสำหรับกระต่ายปลอดเชื้อที่สุด

          “อาหารที่ไม่ควรให้กระต่ายกิน ก็คือ แตงกวา ถั่วฝักยาว กะหล่ำปลี ผักบุ้ง พวกนี้ไม่ควรให้กระต่ายเลย บางคนเข้าใจผิดคิดว่าอย่างไรก็เป็นผัก แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย ในระยะแรกกระต่ายอาจจะไม่เป็นอะไร แต่หากสะสมไปนานๆ อาจจะทำให้มีผลต่อสุขภาพและกระต่ายอาจตายได้ บางตัวท้องเสียฉับพลันก็มี เพราะพืชตระกูลถั่วต่างๆ จะทำให้เกิดแก๊สในกระเพาะได้ง่าย ผักที่แนะนำก็คือ คะน้า ผักกาดหอม กวางตุ้ง ขึ้นฉ่าย นานๆ ก็ให้กะเพราสักที ส่วน แครอต ไม่ต้องให้มาก เพราะแป้งเยอะ กินมากกระต่ายจะอ้วน” คุณเดียว บอกย้ำ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *