บุชเบบี้ (Bush baby)

บุชเบบี้แคระ (Dwarf bushbaby) เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดตัวที่เล็กที่สุด สามารถพบน้องได้ตามป่าฝนในเขตร้อนแถวชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกและแถบตอนใต้…

ที่มาและถิ่นกำเนิดน้องบุชเบบี้

น้องจัดเป็นสัตว์ตระกูลเลี้ยงลูกด้วยนมที่อยู่ในกลุ่มไพรเมต (Primate) หรือกลุ่มลิงนั่นเอง มีถิ่นกำเนิดมาจากป่าในแอริฟกา แถบนามิเบีย, แซมเบีย เป็นสัตว์หากินกลางคืน น้องจะอาศัยอยู่บนต้นไม้สูง ที่ใกล้กับแหล่งน้ำ สามารถกระโดดย้ายต้นไม้จากต้นนึงไปหาอีกต้นนึงได้อย่างคล่องแคล่วว่องไว แต่ก็จะลงมาหาอาหารตามภาคพื้นดินในบางครั้งเหมือนกัน

น้องเป็นนักล่าแมลงตัวฉกาจแต่ในทางกลับกันน้องก็มีนักล่าที่เป็นศัตรูที่น่าตัวคือนกฮูกขนาดใหญ่และงู ที่เป็นสัตว์หากินกลางคืนเหมือนกัน นอกจากนั้นสภาพแวดล้อมที่เป็นปัญหาต่อถิ่นที่อยู่อาศัยน้องเลยคือไฟป่า เนื่องจากน้องไม่ใช่สัตว์ที่เชี่ยวชาญในเรื่องการเดินทางไกล ไฟที่ลามทุ่งนั้นจะทำลายแหล่งอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยน้องเลยกลายเป็นที่มาว่าทำไมน้องถึงชอบอาศัยอยู่ในเขตชื้นและใกล้กับแม่น้ำนั่นเอง ว่าไปแล้วก็ฉลาดจริง ๆ นะเนี่ย

ลักษณะทางกายภาพและนิสัย

น้องมีหน้าตาที่คล้ายกับนางอายที่บ้านเรา มองผ่าน ๆ คล้าย ๆ ลิงที่มีขนาดเล็ก ลักษณะศีรษะกลม หน้าสั้น ใบหูที่ยาวใหญ่ไว้ใช้ฟังเสียง มีลักษณะมือเท้าที่ใช้หยิบจับสิ่งของที่เหมือนกับมนุษย์มาก ๆ มีขนาดตัวเล็กเทียบเคียงกับกระต่ายได้เลย เมื่อเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ เพศเมียสามารถจับคู่ผสมกับเพศผู้ได้ถึง 6 ตัว โดยที่เพศผู้จะแสดงความเป็นเจ้าของกับเพศเมียด้วยการใช้กลิ่นปัสสาวะ จากนั้นจะทำการสร้างรังให้กับลูกน้อยที่คลอดออกมา น้องจะให้ลูกเพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น ครั้งละ 1 ถึง 2 ตัว หลังจากคลอดออกมาลูกจะอยู่ในรัวประมาณ 2 ถึง 3 อาทิตย์ก่อนที่แม่บุชเบบี้จะเริ่มพาลูกน้อยออกไปนอกรัง เพื่อให้ลูกน้อยเริ่มปรับตัวต่อการใช้ชีวิตข้างนอก น้ำหนักของน้องเมื่อโตเต็มที่อยู่ที่ประมาณ 0.3 ถึง 2 กิโลเท่านั้น ขนาดความยาวลำตัวอยู่ที่ 14 ถึง 17 เซนติเมตร อายุขัยน้องอยู่ได้ประมาณ 25 ปี

นิสัยน้องในตอนที่โตเต็มวัยจะชอบแยกตัวมาอยู่ลำพังเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกันกับตัวอื่น จะแบ่งเขตแดนที่อยู่อาศัยอย่างชัดเจนและไม่ก้าวก่ายข้ามเขตอาศัยของตัวอื่น เวลาออกหาอาหารน้องจะไปเดี่ยวหรือไปแบบรวมหมู่กันออกไปพร้อมกับพรรคพวก และจะสุมหัวกันเป็นฝูงก่อนที่จะแยกย้ายกันกลับรังไปนอนตอนรุ่งสาง

เมื่ออยู่กันเป็นกลุ่มจะเกิดการปกครองที่ขึ้นอยู่กับตัวผู้ที่เป็นจ่าฝูง ซึ่งทำหน้าที่คอยปกป้องถิ่นที่อยู่อาศัย ตัวผู้ที่เด็กกว่าเมื่อเติบโตพอแล้วจะแยกตัวออกจากกลุ่ม เวลาพบสมาชิกใหม่ที่ไม่รู้จักน้องจะได้กลิ่นและทำความรู้จักกันโดยการใช้จมูกแตะกัน นับจากนั้นพวกเขาจะแสดงออกถึงความเป็นมิตรหรือศัตรูก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เมื่ออยู่ตามธรรมชาติน้องจะเคลื่อนไหวได้รวดเร็วมาก โหนกิ่งไม้ไปมาด้วยขาหลัง ความน่าเอ็นดูอีกอย่างของน้องคือจะทำความสะอาดขนตัวเองก่อนที่จะออกหาอาหาร เพราะฉะนั้นผู้เลี้ยงจะเห็นน้องชอบทำความสะอาดตัวเองอยู่บ่อย ๆ โดยการเกาไปทั่วร่างกาย ตามลำตัวและซอกหลีบต่าง ๆ

บุชเบบี้ (Bush baby) น้องลิงผู้ขโมยหัวใจทาสสัตว์แปลก 04

สายพันธุ์ของบุชเบบี้

เห็นตัวเล็ก ๆ แบบนี้ ก็ได้ขยายเผ่าพันธุ์ตัวเองออกไปกว้างขวางทั่วโลกจนมีด้วยกันถึง 22 สายพันธุ์เชียวล่ะ แถมอยู่อาศัยในภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งแบบป่าดิบแล้ง ป่าฝนเขตร้อน ป่าเมฆ ทุ่งหญ้าสะวันน่าและอีกมากมาย แต่ถ้าจะให้อธิบายทั้ง 22 สายพันธุ์ล่ะก็คงอ่านกันจนตาแฉะ เอาเป็นว่าจะขอรวบรวมเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ เอาไว้ทั้งหมด 5 กลุ่มด้วยกัน ซึ่งรูปร่างลักษณะทางกายภาพที่แตกกันอยู่ไม่น้อยเลย

  1. บุชเบบี้เล็บเข็ม (Needle-clawed bushbabies) เป็นกลุ่มรุ่นบุกเบิกสายพันธุ์ที่มีมาตั้งนานแล้ว จะเจอน้องได้แถวแถบแอฟฟริกาตะวันตกเท่านั้น
  2. บุชเบบี้เล็ก (Lesser bushbabies) เป็นกลุ่มสายพันธุ์ที่คุ้นเคยมากที่สุดในทุกสายพันธุ์ สามารถพบน้องได้ตามทุ่งหญ้าสะวันน่ากับป่าดิบแล้ง
  3. บุชเบบี้แคระ (Dwarf bushbaby) เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดตัวที่เล็กที่สุด สามารถพบน้องได้ตามป่าฝนในเขตร้อนแถวชายฝั่งแอฟริกาตะวันออกและแถบตอนใต้
  4. กาลาโก้ใหญ่ (Greater galago) เป็นสายพันธุ์ที่มีขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุดใน 5 กลุ่มนี้ สามารถพบเจอตัวน้องได้ที่ป่าละเมาะกับป่าฝนในเขตร้อน
  5. บุชเบบี้กระรอก (Squirrel bushbaby) น้องจะมีรูปร่างทางกายภาพคล้ายกับกระรอก มีความคล่องแคล่วมาก ๆ ในการเคลื่อนที่กระโดดข้ามไปมาระหว่างต้นไม้นึงไปอีกต้นนึง

ถึงน้องจะมีสายพันธุ์ที่หลากหลายขนาดนี้ แต่ก็มีเพียงสายพันธุ์เดียวที่กำลังเป็นที่นิยมอยู่ในขณะนี้นั่นก็คือสายพันธุ์ Galago Moholi หรือสายพันธุ์ที่อยู่ในกลุ่มบุชเบบี้เล็กนั่นเอง

บุชเบบี้ (Bush baby) น้องลิงผู้ขโมยหัวใจทาสสัตว์แปลก 05

วิธีการเลี้ยงบุชเบบี้

น้องเป็นสัตว์ที่เมื่อเชื่องและคุ้นเคยกับผู้เลี้ยงแล้วก็จะติดเจ้าของมาก ๆ ไปไหนหนูก็จะขอตามไปด้วยทุกที่ ผู้เลี้ยงสามารถเลี้ยงน้องในห้องขนาดใหญ่ได้ โดยการใส่อุปกรณ์การเลี้ยงไว้ภายในห้องให้พร้อม หรือหากใครมีพื้นที่จำกัดก็สามารถเลี้ยงในกรงขนาดเล็กได้ แต่ให้มีความสูงพอเพราะน้องชอบกระโดด และควรหมั่นปล่อยน้องให้ออกมาทำกิจกรรมนอกกรงบ้างเพื่อเป็นการออกกำลังกาย และคลายเครียด นอกจากนั้นการพาออกไปสูดอากาศข้างนอกบ้าน รับแสงแดดอ่อนๆ ก็สำคัญ เพราะร่างกายน้องก็ต้องการวิตามินจากแสงแดดเหมือน ๆ กันมนุษย์นั่นเอง

บุชเบบี้ (Bush baby) น้องลิงผู้ขโมยหัวใจทาสสัตว์แปลก 06

อุปกรณ์การเลี้ยงบุชเบบี้

อุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงน้องไม่มีอะไรมากเป็นพิเศษค่ะ เช่น กระบอกน้ำสะอาด ที่ควรหมั่นเปลี่ยนน้ำให้อยู่เรื่อย ๆ ถ้วยอาหารที่หนักและกว้างกันการพลิกคว่ำ ที่นอนนิ่ม ๆ ที่ทำจากผ้าหรือเปลผ้าผูกแขวนไว้กับกรงก็ได้ สุดท้ายคือเรื่องการขับถ่ายที่น้องขับถ่ายไม่เป็นที่เป็นทาง แถมไม่สามารถฝีกได้อีกด้วย แต่เราสามารถเก็บทำความสะอาดได้ไม่ยากค่ะเนื่องจากมีลักษณะเป็นก้อนกลมเล็ก ๆ เก็บง่าย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามจตุจักรหรือร้านที่ขายอุปกรณ์สัตว์เลี้ยง

นิสัยน้องจะชอบอยู่ลำพังในบางครั้ง และออกหากินกับฝูงเมื่อมาอยู่กับมนุษย์แล้วถูกเลี้ยงให้เชื่องก็จะติดผู้เลี้ยงเอามาก ๆ มีนิสัยอ่อนโยน น้องชอบกระโดดเล่น (ไม่เดิน) สูงเป็นจิงโจ้เลย

บุชเบบี้ (Bush baby) น้องลิงผู้ขโมยหัวใจทาสสัตว์แปลก 07

อาหารที่เหมาะสมสำหรับบุชเบบี้

อาหารที่เหมาะสมกับน้องจะเป็นพวกผลไม้ที่มีสารแทนนินมากเช่นพวก แอปเปิ้ล ลูกแพร์ มะม่วงสุก กล้วย มะละกอ องุ่น ข้าวโพด และพวกแมลงต่าง ๆ ที่มีโปรตีนสูง เช่น หนอน จิ้งหรีด อาหารเสริมที่สามารถให้ได้จะเป็นพวกนมแพะ ไข่ต้ม ไข่นก ลูกนก และอาหารสำเร็จรูปที่ทำมาเพื่อบุชเบบี้ 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงคืออาหารที่มีไขมันสูง และผลไม้รสเปรี้ยวเช่นส้ม หรือที่มีวิตามินซีสูง ผักจำพวกกระหล่ำปลี ผักกาดหอมและผักใบเขียวก็ไม่ควรให้เนื่องจากมีสารพิษเยอะและมีธาตุเหล็กมากเกินไป เนื่องจากน้องไม่ได้อาศัยอยู่ในป่าอาหารที่ได้จากมนุษย์จะมีธาตุเหล็กสูงเกินควรทำให้น้องมีปัญหาสุขภาพ

บุชเบบี้ (Bush baby) น้องลิงผู้ขโมยหัวใจทาสสัตว์แปลก 08

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการเลี้ยงบุชเบบี้

เมื่อผู้เลี้ยงได้ตัดสินใจรับน้องมาเป็นส่วนนึงในครอบครัวแล้วนั้น ก็ต้องเตรียมความพร้อมให้ตัวเองในหลาย ๆ ด้าน เช่น การมีเวลาดูแลเอาใจใส่น้อง เล่นกับน้อง เนื่องจากหากถูกขังทิ้งไว้ในกรงบ่อย ๆ จะกลายเป็นน้องที่มีนิสัยดุและไม่เชื่องกับผู้เลี้ยง หากไม่นำออกไปออกกำลังกายบ้าง ไม่ออกไปเจออากาศธรรมชาตินอกบ้านน้องก็จะเกิดความเจ็บป่วยก่อนวัยอันควร สุขภาพจิตที่ไม่ดี ก็นำพาไปสู่ร่างกายที่ไม่แข็งแรง รวมไปถึงอาหารการกิน หากให้อาหารที่ไม่เหมาะสมแก่น้อง น้ำดื่มที่สกปรกก็ทำให้น้องเกิดอาการท้องเสียได้ เพราะฉะนั้นผู้เลี้ยงควรหมั่นเช็คอาหารว่าเน่าเสียหรือยัง น้ำที่ให้นั้นสะอาดหรือไม่ สิ่งสุดท้ายคือเรื่องเงินที่เมื่อเวลาน้องแก่ตัวก็จะมีโรคต่าง ๆ มาเยือน ซึ่งค่ารักษาสัตว์ Exotic pet จะมีราคาที่ค่อนข้างสูงกว่าสุนัขหรือแมว เมื่อถึงเวลานั้นผู้เลี้ยงควรเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อทำการรักษาให้น้องอยู่กับเราได้นาน ๆ

ข้อดีของน้อง : เป็นสัตว์ที่รักสงบ ไม่ส่งเสียงดังเหมาะแก่คนที่พักอาศัยในคอนโด หรือไม่ชอบสัตว์ที่ส่งเสียงรบกวน เวลาเผลอกัดเจ้าของก็กัดไม่แรง ไม่มีเล็บมาข่วนให้เราเนื้อตัวถลอก มือนิ่ม ไม่มีกลิ่นตัว สามารถเลี้ยงกับเด็กได้เพราะน้องไม่ดุร้าย ในบางตัวที่เชื่องกับเจ้าของมาก ๆ นั้น น้องสามารถจำเจ้าของได้ด้วย เรียกก็มาหา น่ารักมาก ๆ เลย

ข้อเสียของน้อง : ขับถ่ายไม่เป็นที่ ฝึกได้ยาก ด้วยนิสัยที่น้องเป็นสัตว์หากินกลางคืนก็จะนอนกลางวัน ตื่นกลางคืนซึ่งเวลาที่เราอยากเล่นด้วยน้องจะหลับ จะได้เล่นกับน้องอีกทีก็กลางคืนไปแล้ว เมื่อปล่อยน้องเดินในห้องน้องจะชอบเข้าไปหามุมมืด ๆ แอบซ่อนตัวทำให้บางครั้งเราต้องตามหาน้องไปทั่ว มีความว่องไวแบบลิง ตามจับตัวยาก วิ่งจนเหนื่อย วิธีแก้ไขคือการใส่สายจูงให้น้องทุกครั้งที่นำออกมาจากกรงจะดีที่สุดเพื่อป้องกันการวิ่งหนีหาย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *