วิธีการเลี้ยง ผีเสื้อ

 การเริ่มต้นเลี้ยงผีเสื้อทุกชนิด จะต้องทราบว่าระยะตัวหนอนกินพืชอะไรเป็นอาหาร วงจรชีวิตเป็นอย่างไร ระยะเวลาการเจริญเติบโต ฯลฯ โดยศึกษาจากเอกสาร หรือแหล่งข้อมูลต่างๆก่อน ที่สำคัญคือ ต้องแน่ใจว่าบริเวณที่เราต้องการเพาะเลี้ยงมีผีเสื้อชนิดนั้นอยู่ด้วย โดยต้องทำการสำรวจก่อนเริ่มลงมือเลี้ยง ถ้าไม่มีจะต้องทำการเลี้ยงในลักษณะปิด คือ ผีเสื้อต้องอยู่ในกรงเลี้ยงตลอดเวลา การหาผีเสื้อมาเสริมเพื่อป้องกันการเกิดเลือดชิดไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากนี้สภาพดิน ภูมิอากาศ อาจไม่เหมาะสมต่อการเจริญของพืชอาหารก็ได้ ผลสุดท้ายต้องนำผีเสื้อและพืชอาหารมาจากที่อื่นตลอดเวลา ซึ่งจะต้องเสียเวลา และค่าใช้จ่ายจำนวนมาก สิ่งนี้เป็นสาเหตุสำคัญที่ต่างชาติไม่นิยมเพาะเลี้ยงผีเสื้อที่พบในเขตร้อนในบ้านเขา ทั้งที่การนำพืชเมืองร้อนไปปลูกในเมืองหนาวสามารถทำได้ในเรือนเพาะชำ (Green House) ที่ควบคุมอุณหภูมิ และสภาพแวดล้อม

SONY DSC

   1. ผีเสื้อถุงทองธรรมดา (รูปซ้ายมือ) เป็นผีเสื้อกลางวันที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย คือ วัดขนาดความยาวระหว่างปลายปีกทั้งสองข้างตรงส่วนที่ยาวที่สุด จะมีขนาดประมาณ 18 ซม. (ในตัวเมีย)แต่มีผีเสื้ออีกชนิดหนึ่งมีขนาดใกล้เคียงกับผีเสื้อถุงทองธรรมดา พบในประเทศไทยเช่นกัน คือ ผีเสื้อนางพญากอดเฟรย์ รูปร่างคล้ายผีเสื้อนางพญาสยาม แต่สีพื้นของปีกเป็นสีน้ำตาลเข้ม และจุดแต้มเป็นสีขาว ปัจจุบันผีเสื้อชนิดนี้หายากมาก
        ผีเสื้อถุงทองธรรมดา จัดเป็นแมลงใกล้สูญพันธุ์ ตามอนุสัญญา CITES (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ดังนั้นการเพาะพันธุ์เพื่อการค้า ต้องมีขั้นตอนการขออนุญาตเพาะพันธุ์ และส่งออกที่ค่อนข้างซับซ้อน
        สำหรับผีเสื้อกลางวันที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ในวงศ์ผีเสื้อหางติ่ง เช่นเดียวกับผีเสื้อถุงทองของเรา เรียกชื่อสามัญเหมือนกันว่า Birdwing Butterfly คือ ผีเสื้อปีกนกราชินีอเล็กซานดร้า (Queen Alexandra’s Birdwing Butterfly – Aetheoptera (Ornitoptera) alexandrae) พบที่ปาปัวนิวกินี ตัวเมียขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 30 ซม

        2. ผีเสื้อยักษ์ (รูปขวามือ) อาจเรียกผีเสื้อกระท้อน หรือผีเสื้อไหมป่า เป็นผีเสื้อกลางคืนที่ใหญ่ที่สุดในโลก พบได้ทั่วไปในบ้านเรา มีขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 30 ซม. ในตัวเมียเช่นกัน

        ผีเสื้อทั้งสองชนิดนี้จัดเป็นดาราเด่นในฟาร์มผีเสื้อต่างๆ เพราะมีขนาดใหญ่มากในตัวเมีย แต่ตัวผู้จะมีขนาดย่อมกว่าเล็กน้อย ขนาดเฉลี่ยจริงๆในธรรมชาติทั้งเพศผู้และเมีย จะมีขนาดเล็กกว่าที่ระบุประมาณ 3-5 ซม. หรือมากกว่านี้ ซึ่งขึ้นอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของอาหารในระยะตัวอ่อน การแก่งแย่งอาหารกัน และสภาพสิ่งแวดล้อมอื่นๆ การที่จะขุนให้ผีเสื้อที่เราเลี้ยงมีขนาดใหญ่ สามารถทำได้โดยการดูแลเรื่องปริมาณอาหาร ความสะอาดของกรงเลี้ยง และจำกัดปริมาณตัวหนอนไม่ให้มีมากเกินไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *