ความจริงที่ต้องรับให้ได้ ก่อนหาสัตว์แปลกมาเลี้ยง

นอกจากความสวยงามของสัตว์เลี้ยงที่แปลกแหวกแนวเหล่านี้แล้ว ก่อนจะหามาเลี้ยง คุณเองต้องศึกษาพฤติกรรมการใช้ชีวิตของมันอย่างดีด้วย เพราะบางตัวเองก็มีพฤติกรรมตามธรรมชาติติดตัวมา เนื่องจากความเป็นสัตว์ป่ามาก่อน ทำให้ต้องเตรียมรับมือกับความจริงทั้ง 4 ข้อนี้ให้ได้ ก่อนตัดสินใจหามาเลี้ยง

เที่ยวงาน Pet Expo ชมสัตว์แปลกหาดูยาก

1. ส่วนใหญ่มักไม่เชื่อง

ต้องทำใจยอมรับให้ได้ว่าสัตว์แปลกๆ ส่วนใหญ่แล้วมักจะเลี้ยงให้เชื่องได้ยาก แม้แต่แมวที่เป็นสัตว์ที่อยู่คู่กับมนุษย์มาหลายพันปีเองก็ยังสามารถฝึกกันได้ยาก ดังนั้นสัตว์แปลกเหล่านี้ที่มีวิถีชีวิตอยู่กับธรรมชาติส่วนใหญ่จะไม่ค่อยเชื่อง และมีนิสัยพฤติกรรมที่ซุกซน ซึ่งบางตัวอาจมีพฤติกรรมทำลายข้าวของติดมาด้วย จึงอาจเกิดการเสียหายภายในบ้านได้หากไม่ระวัง

2. ทำให้สัตว์เกิดความเครียด

จากพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์แปลกที่ชอบหากินอยู่ในป่า หรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่กว้างใหญ่ ทำให้หลายครั้งสัตว์เหล่านี้ที่ถูกจับมาเลี้ยงในบ้าน ในกรง ก็แสดงอาการของความเครียดออกมา อย่างเช่น นกแก้วแอฟริกาที่สามารถบินได้ไกลวันละ 10 กิโลเมตร เมื่อโดนจับเข้ากรงจะทำให้มันเครียด และมีโอกาสทำร้ายตัวเอง ดึงขนตัวเอง ซึ่งเหมือนกับวิธีที่มนุษย์กำจัดความเครียดด้วยการทำร้ายตัวเองเช่นกัน

3. สัตว์แปลกจะถูกทรมานก่อนขาย

ต้องยอมรับก่อนว่าสัตว์แปลกนั้นส่วนใหญ่แล้วไม่สามารถหาได้จากในประเทศไทย ทำให้ต้องได้รับการนำเข้าอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งกระบวนการขนส่งสัตว์แปลกเหล่านี้มีระยะทางที่ยาวนาน และไม่ได้มาตรฐาน และหลายต่อหลายครั้งที่เป็นการลักลอบค้าขายอย่างผิดกฎหมาย เพราะอาชญากรรมรูปแบบนี้มีการทำกำไรสูงมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก จึงอาจทำให้สัตว์เหล่านั้นต้องได้รับความทรมานก่อนจะมาถึงมือคุณ

4. เสี่ยงต่อการรับมือไม่ไหว

เพราะสัตว์แปลกจะมีพฤติกรรมที่แตกต่างไปจากการเลี้ยงหมา หรือแมว ที่เป็นสัตว์เลี้ยงที่หาได้ง่ายในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความแปลกตรงนี้อาจไม่ได้มอบให้แค่เฉพาะประสบการณ์ที่ดี แต่อาจจะสร้างประสบการณ์เลวร้ายให้ด้วยเช่นกัน เพราะถ้าสัตว์เลี้ยงของคุณแปลกมาก เมื่อเจ็บป่วยก็จะต้องได้รับการรักษาที่ยากและลำบากขึ้น หรือต่อให้ศึกษาพฤติกรรมของเขาแล้ว เมื่อเลี้ยงจริงก็อาจจะรับมือไม่ไหวอยู่ดี และอาจสร้างภาระให้คนอื่นรอบข้างด้วย

ส่อง 'สัตว์เลี้ยงสุดแปลก' แห่งยุค ที่ไม่ได้มีเพียงแค่ 'งูดำ'

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *