ทำความรู้จักกับ “นก” สัตว์ป่าคุ้มครองที่ยังพบเห็นได้ในเมือง

นก เป็นสัตว์ชนิดหนึ่งที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เป็นสัตว์ปีกที่จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังชั้น
Aves เป็นสัตว์เลือดอุ่นที่ออกลูกเป็นไข่ รยางค์คู่หน้าของมันจะถูกเปลี่ยนแปลงไปเป็นปีก มีขนหนาและมีกระดูกที่กลวงเบา และในประเทศไทยเรานั้นเป็นประเทศที่มีความหลากหลายของนกมากเมื่อเทียบกับพื้นที่ของประเทศและพบนกมากถึง 1,011 ชนิด แต่ก็มีนกหลายชนิดที่ถูกจัดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ความหมายของสัตว์ป่าคุ้มครอง คือ สัตว์ป่าตามที่กระทรวงกำหนดให้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และมีชื่ออยู่ในบัญชีแนบท้ายของกฎกระทรวง มีรายชื่อนกที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองมากถึง 952 ชนิด ซึ่งกฎหมายไม่อนุญาตให้ล่าหรือมีไว้ในครอบครอง รวมถึงซากของสัตว์เหล่านี้ด้วยเว้นแต่การกระทำโดยทางราชการ

เมื่อเราได้ความรู้เกี่ยวกับนกและสัตว์ป่าคุ้มครองในเบื้องต้นกันไปแล้ว ทีนี้เรามาดูตัวอย่างนกที่เป็นสัตว์ป่า
คุ้มครองที่สามารถพบเจอได้ในเมืองกัน

1. นกสีชมพูสวน

นกสีชมพูสวนเป็นนกที่มีลำตัวขนาดเล็ก ตัวผู้จะมีสีสันสดใส ตั้งแต่หน้าผากถึงตะโพกเป็นแถบยาวสีแดงสด
ส่วนตัวเมียจะมีสีน้ำตาล มีเพียงส่วนตะโพกและขนคลุมหางสีแดงสด มีถิ่นอาศัยอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและล้านนาตะวันออก โดยสามารถพบนกสีชมพูสวนได้ในป่าโปร่ง ชายป่า สวนผลไม้ และสวนสาธารณะ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

  • ชื่ออังกฤษ : Scarlet-backed Flowerpecker
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Dicaeum cruentatum (Linnaeus, 1758)
  • วงศ์ (Family) : Dicaeidae

2. นกกาเหว่า

นกกาเหว่าหรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่านกดุเหว่า เป็นนกที่มีขนาดใกล้เคียงกับอีกา มีลำตัวเพรียวยาว ตาสีแดง
และมีหางยาวแข็ง ตัวผู้มีสีดำ ปากมีสีเขียวเทา ส่วนตัวเมียมีสีน้ำตาลแก่และมีลายเป็นจุดขาวทั่วตัว สามารถพบนกกาเหว่าได้ตามสวนหรือป่าโปร่งทุกภาคในประเทศไทย

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

  • ชื่ออังกฤษ : Western Koel
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Eudynamys scolopaceus (Linnaeus, 1758)
  • วงศ์ (Family) : Cuculidae

3. นกกระเต็นน้อยธรรมดา

นกกระเต็นน้อยธรรมดาเป็นนกที่มีขนาดที่ค่อนข้างเล็ก ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ
16 – 18 เซนติเมตร มีหัวและหน้าผากสีฟ้าอมเขียวสดใส มีจุดสีฟ้าอ่อนเล็ก ๆ เป็นแนวขวางถี่ ๆ หลายแนวคอสีขาว อกสีน้ำตาลแดง แก้มและขนคลุมหูสีน้ำตาลแดง ปีกสีฟ้าอมเขียว มีจุดสีฟ้าอ่อนตรงแนวปีก หลังและตะโพกสีฟ้า สดใสมาก ๆ ขาและนิ้วเท้าเล็กมีสีแดงสดใส ปากของตัวผู้และตัวเมียจะมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่แตกต่างกันที่ตัวเมียมีโคนปากล่างเป็นสีส้มแดง ขณะที่ตัวผู้มีปากสีดำสนิท สามารถพบนกกระเต็นน้อยธรรมดา ได้ตามแหล่งน้ำหรือลำธารที่น้ำไหลช้า ทั้งในที่โล่งและในป่าที่ไม่ทึบนัก และสวนสาธารณะ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

  • ชื่ออังกฤษ : Common Kingfisher, Eurasian Kingfisher
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Alcedo atthis (Linnaeus, 1758)
  • วงศ์ : Alcedinidae

4. นกตีทอง

นกตีทองเป็นนกโพระดกที่มีขนาดเล็กมาก ๆ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ขนด้านบนตัวจะมีสี
เขียวสด หน้าอกมีแถบสีแดง และด้านใต้ตัวมีลายสีเขียวขนาดเล็ก คอเป็นสีเหลือง รอบตามีสีเหลืองและบนหัวมีแถบสีแดง ปากมีสีดำและมีขนที่แข็ง ส่วนนกที่ยังโตไม่เต็มวัยจะไม่มีสีแดงที่หน้าผาก สามารถพบนกตีทองได้ในประเทศไทยทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือตอนล่าง พบได้ที่ป่าโปร่ง สวนผลไม้ และสวนสาธารณะ

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

  • ชื่ออังกฤษ : Coppersmith Barbet
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psilopogon haemacephalus (Statius Muller, 1776)
  • วงศ์ : Megalaimidae

5. นกกางเขนบ้าน

นกกางเขนบ้านเป็นนกที่ร้องเสียงเพราะที่สุดชนิดหนึ่ง ตัวผู้จะสีดำ โดยมีสีขาวตั้งแต่ใต้อกลงมา บนปีกและ
ริมด้านนอกมีสีขาว ส่วนตัวเมียจะมีสีเทาแทนสีดำ สามารถพบนกกางเขนบ้านทั่วประเทศไทย เป็นนกที่ชอบอยู่ตามสวน หมู่บ้าน บริเวณที่มีการเพาะปลูก ชายทะเล ป่าละเมาะและป่าไผ่

ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์

  • ชื่ออังกฤษ : Oriental Magpie-robin
  • ชื่อวิทยาศาสตร์ : Copsychus saularis (Linnaeus, 1758)
  • วงศ์ : Muscicapidae

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *