“บลูเพิร์ล” กุ้งสีฟ้า สัตว์เลี้ยงแสนน่ารัก

เมื่อพูดถึงกุ้งหลายคนคงเปรี้ยวปาก อยากให้เป็นอาหารจานด่วนสักมื้อ แต่สำหรับบลูเพิร์ล กุ้งสายพันธุ์ออสเตรเลีย ที่มีสีสันสวยงาม ลายฟ้าครามเช่นนี้ อาจทำให้รับประทานกันไม่ลง เพราะนอกจากลวดลายที่โดดเด่นแล้ว ความน่ารัก แสนรู้ ก็ไม่เป็นรองสัตว์น้ำชนิดอื่นเลย ยิ่งทำให้หลายคนสนใจอยากเลี้ยงไว้ดูเล่น แต่การจะเพาะกุ้งบลูเพิร์ลมาได้แต่ละตัวนั้นอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด จึงทำให้ความต้องการเลี้ยงสวนทางกับจำนวนกุ้งบลูเพิร์ลที่มีอยู่น้อยในประเทศไทย

M-pet ขอทำความรู้จักกับกูรูเจ้าของฟาร์มเลี้ยงบลูเพิร์ลมากที่สุดในประเทศไทย ณัฐ Yabby House วิศวกรสาว ผู้มีใจรักการเลี้ยงกุ้งบลูเพิร์ลเป็นชีวิตจิตใจ อาจเรียกได้ว่าเธอหลงใหลในสีสันสวยงาม ความสดใส ร่าเริงของกุ้งโดยไม่รู้ตัว ด้วยเม็ดเงินลงทุน 2.5 ล้านบาท เพื่อทุ่มเทกับการเลี้ยงกุ้งในบ้านสองชั้นมากว่า 3 ปี จากจำนวนกุ้งไม่กี่สิบตัวจนตอนนี้มีมากถึง 600 ตัวเลยทีเดียว

เลี้ยงด้วยใจรัก
จากความสนใจในสีสันสวยงามของกุ้ง ที่ขายอยู่ในตลาดนัดสวนจตุจักร แต่ด้วยภาระการงานที่ต้องเดินทางอยู่ตลอดเวลาทำให้ไม่มีเวลา จึงยังไม่คิดเลี้ยงอย่างจริงจัง จนในช่วงปี 2009 ได้เกิดไข้หวัดระบาด และมีปัญหาทางการเมืองเกิดขึ้น การเดินทางติดต่องานจึงลดลง จึงเป็นโอกาสเริ่มต้นเลี้ยงกุ้งเครย์พิชตั้งแต่นั้นมา

“แต่ก่อนเราเลี้ยงกุ้งเครย์ฟิชสาย P ก้ามหนาม ซึ่งกุ้งชนิดนี้เลี้ยงง่าย ตายยาก อุณหภูมิปกติบ้านเราเลี้ยงได้สบาย ต่อมาเราสนใจเลี้ยงกุ้งบลูเพิร์ล ก็คิดว่าบลูเพิร์ลคงเลี้ยงง่าย เพราะเป็นเครย์ฟิชเหมือนกัน แต่ไม่ใช่อย่างที่คิด ปีแรกที่เราเลี้ยง เลี้ยงแล้วตายไป ซื้อมาตั้งแต่ตัวละ 4,000-10,000 บาท ทั้งหมด 40-50 ตัว ลอกคราบก็ตาย ได้แต่คำว่าตาย ตายไปเยอะ หมดไปเป็นแสน”

“เราตระเวนซื้อต่อจากคนที่เลี้ยงอยู่ ไปสวนจตุจักรซื้อมาได้แค่ 2 ตัว มีตังค์แต่กุ้งไม่มี ลูกนอกเข้ามาครั้งหนึ่ง 40-50 ตัวก็ต้องแบ่งไปทั้งประเทศ พ่อแม่พันธุ์จึงหายากมาก ก็พยายามหาจากคนที่เขาเลี้ยงมาก่อน เขาอยู่ไหนก็ไปหาถึงบ้านเลย”

หลังจากที่หลงใหลในความสวยงามของกุ้งบลูเพิร์ลจึงหันมาเลี้ยงเครย์พิชสายพันธุ์นี้อย่างจริงจัง แต่กลับมีอุปสรรคในการเลี้ยง กุ้งเจริญเติบโตไม่เต็มที่ กุ้งมีอาการเครียด และตายในที่สุด เพราะในไทยไม่มีข้อมูลการเลี้ยงอย่างถูกต้อง ณัฐ Yabby Houseจึงเริ่มศึกษาหาข้อมูลการเลี้ยงกุ้งบลูเพิร์ลในเว็บไซต์ต่างประเทศอย่างจริงจัง

“เราหาข้อมูลทั้งหมดเท่าที่ได้จากเว็บไซต์ต่างประเทศ หลังจากนั้นกุ้งก็เริ่มโตแล้วไม่ตาย ตอนนั้นเรายังไม่คิดเรื่องเพาะพันธุ์ คิดแค่ว่าเลี้ยงยังไงให้กุ้งมันโตแล้วไม่ตาย มันก็เหมือนงานวิจัยชิ้นหนึ่ง เราลงทุนศึกษาหาข้อมูลตรงนี้ก็หมดเงินไปเป็นแสน เราเคยโดนโจมตีว่าขายแพงมาก ก็เพราะว่าต้นทุนการเลี้ยงมันสูงมาก คนทั่วไปไม่รู้นึกว่ากุ้งเครย์ฟิชคงเหมือนๆ กัน แต่บลูเพิร์ลมันไม่ได้เหมือนกุ้งเครย์ฟิชตัวอื่น คนที่ไม่เคยเลี้ยงก็จะไม่รู้ว่าความต้องการของบลูเพิร์ลไม่เหมือนกุ้งเครย์ฟิชตัวอื่นเลย”

ลองผิดลองถูกจนได้ดี
ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา Yabby House เลี้ยงกุ้งบลูเพิร์ลจากการลองผิดลองถูกมาโดยตลอด ซึ่งตอนนี้เมื่อเทียบกับต่างประเทศ กลับกลายเป็นว่า Yabby House หนึ่งเดียวของประเทศไทยนี้ สามารถเทียบชั้นได้อย่างสมบูรณ์แบบ จากวิธีการเลี้ยงที่ทดลองมาทุกอย่าง เพราะในไทยยังไม่มีใครให้ความรู้ได้ จึงต้องมีการทดสอบ เมื่อลองผิดลองถูกมากขึ้นจึงทำให้มีความรู้ และสามารถพัฒนาการเลี้ยงกุ้งให้เจริญเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาจมีหลายคนเข้าใจผิดว่า Cherax destructor albidus และ Cherax destructor เป็นตัวเดียวกัน แต่จริงๆ แล้ว เดสแทรกเตอร์เป็นต้นกำเนิดของบลูเพิร์ล และทั้งสองชนิดนี้เป็นกุ้งในตระกูล Cherax เหมือนกัน เดสแทรกเตอร์ คือ Cherax destructor ส่วนบลูเพิร์ล คือ Cherax destructor albidus ซึ่งเป็นกุ้งที่อยู่ในสายเดียวกันแต่แตกย่อยออกไป คำว่าบลูเพิร์ล (Blue Pearl) คือชื่อทางการค้าที่คนไทยตั้งขึ้นมา แต่ว่าในต่างประเทศเขาเรียกว่า Cherax destructor albidus ถ้าเป็นสหรัฐอเมริกาจะเรียกว่า Cherax Blue Pearl แต่ละที่จะมีชื่อทางการค้าไม่เหมือนกัน

“ในยุคแรกที่เราหลงทาง เพราะเราเข้าใจว่า Cherax destructor albidus คือ Cherax destructor คิดว่าเป็นตัวเดียวกัน ทำให้เราเข้าใจผิดนานเป็นปี พอเราเข้าใจผิดคิดว่ามันเป็นสายเดียวกันจึงเอาข้อมูลการเลี้ยงเดสแทรกเตอร์มาใช้กับบลูเพิร์ล จนตอนหลังเราศึกษาข้อมูลในเว็บไซต์ต่างประเทศมากขึ้นจึงรู้ว่าในออสเตรเลียและยุโรป กุ้งพวกนี้เขาเรียกว่า Blue Yabby หมดเลยโดยไม่ได้แยกสาย”

“และด้วยความที่เราไม่รู้ว่ากุ้งเขาต้องเลี้ยงในตู้ที่แบ่งเป็นช่องๆ ช่องละตัว 1 ตัว 1 ตู้ แต่เราไม่รู้จึงเลี้ยงรวมกันหมดเลย พอเราไปคุยกับคนเลี้ยงหลายๆ คนแล้ว เขาบอกว่าถ้าเลี้ยงรวมเดี๋ยวมันจะกินกัน จะฆ่ากันเอง โดยเฉพาะตอนลอกคราบ กุ้งจะอ่อนแอ แล้วจะทำให้อีกตัวหนึ่งเข้ามาทำร้ายทันที จึงกลายเป็นว่าพอเราเลี้ยงด้วยความไม่รู้แบบนี้ ภาพที่ออกไปทั่วโลก เขาก็งงกัน แต่ก็ไม่เห็นตีกันถึงขนาดตายเลย ก็จะมีแค่กร่างๆหน่อย เอาหนวดฟาดหน้ากัน ซึ่งจริงๆ แล้วการเลี้ยงรวมกลับเป็นผลดี เพราะมันสามารถลดความก้าวร้าวได้ ถ้าเราเลี้ยงแยก เลี้ยงเดี่ยว หรือให้อยู่ในที่คับแคบ จะทำให้กุ้งเครียด ก้าวร้าว อยู่กับใครไม่ได้ ห่วงอาณาเขต ตรงนี้จึงเป็นผลดีที่มาจากความไม่รู้ของเรา”

กุ้งบลูเพิร์ลเป็นกุ้งที่มีความก้าวร้าวอยู่แต่ไม่มากเท่ากับกุ้งเดสแทรกเตอร์ ทั้งนี้การเลี้ยงรวมกันจึงอาจมีการทำร้ายกันบ้างแต่ไม่ถึงขั้นตาย ในช่วงเวลาลอกคราบเป็นปกติของกุ้งที่แข็งแรงกว่าจะเข้ามาทำร้ายได้ จึงขึ้นอยู่กับคนเลี้ยงเองว่าจะสามารถแยกกุ้งที่กำลังจะลอกคราบออกมาได้ทันไหม ถ้ารู้จักสังเกต รู้ช่วงเวลาลอกคราบ ก็จะไม่มีปัญหาเรื่องกุ้งทำร้ายกัน

ปัจจัยสำคัญในการเลี้ยง
หลังจาก Yabby House ได้ศึกษาหาข้อมูลอย่างละเอียด จึงรู้วิธีการเลี้ยงกุ้งบลูเพิร์ลที่ถูกต้อง มีทั้งหมด 4 ปัจจัยหลักด้วยกัน ซึ่งแต่ละปัจจัยในการเลี้ยงย่อมส่งผลต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง ที่ผู้เลี้ยงจะละเลยไม่ได้แม้แต่นิดเดียว

1. อุณหภูมิ เป็นหัวใจหลักของบลูเพิร์ลเลยก็ว่าได้ ความสวยงามก็ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเช่นเดียวกัน ระดับอุณหภูมิที่ดีต้องอยู่ที่ 25 องศาเซลเซียสและไม่สูงกว่า 30 องศาเซลเซียส เพราะจะทำให้กุ้งเครียดถึงขนาดแซะก้ามตัวเองทิ้ง 2.สภาพน้ำ ต้องมีความสะอาด สภาพน้ำมีออกซิเจนสูง ถ้าออกซิเจนต่ำกุ้งจะไม่ค่อยโต ไม่กินอาหาร ไม่ร่าเริง 3.ตู้เลี้ยง จากขนาดสี่เหลี่ยมผืนผ้าที่ขายทั่วไป Yabby House เปลี่ยนเป็นสี่เหลี่ยมจตุรัสขนาด 18”x18” ทำให้ตู้มีเนื้อที่เพิ่มขึ้น และกุ้งเจริญเติบโตได้ดีกว่าเดิม และ 4.อาหาร บลูเพิร์ลกินได้ทั้งอาหารเม็ดสำเร็จรูป และอาหารสด เช่น เนื้อหมู ไก่ ปลา ฯลฯ

“อาหารกุ้งสำเร็จที่คนไทยทำ ก็จะมีที่ร้านปราณี สวนจตุจักร มีสัตวแพทย์สัตว์น้ำจุฬาฯ เป็นคนคิดค้นและวิจัยขึ้นมา ทั้งวิตามิน อาหารเสริม อาหารเลี้ยงกุ้งต่างๆ เราก็ไปทดลองเอามาใช้เลี้ยงกุ้งบลูเพิร์ล แล้วทำให้กุ้งเจริญเติบโตได้ดี สีสันสวยขึ้น ลอกคราบดีขึ้น ตัวใหญ่ขึ้น และที่สำคัญราคาไม่แพงจึงใช้เลี้ยงมาตลอด ส่วนอาหารสด ก็มีหนอนแดงแช่แข็ง กุ้งฝอยต้ม เพราะมีแคลเซียม และหาง่ายจึงสะดวกต่อการเลี้ยง”

“ปกติแล้ว Yabby House จะให้อาหารกุ้ง วันละ 2 มื้อ คือ ตอนเช้าและตอนเย็น อาจจะให้เช้าอาหารเม็ด เย็นเป็นอาหารสด อย่างกุ้งฝอยต้ม สลับๆ กันไป จะพยายามให้เขากินหลากหลาย บางครั้งก็ให้สาหร่ายสไปรูลินาคู่กับอาหารเม็ดที่เป็นโปรตีนผสมกัน เพราะจะทำให้กุ้งมีสีสวยขึ้น”

และอีกเรื่องหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในการเลี้ยงกุ้ง คือการนำขอนไม้น้ำมาแช่อยู่ในตู้เลี้ยง หลายคนอาจคิดว่ามีไว้เพียงเพื่อประดับตกแต่งให้เกิดความสวยงามเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วขอนไม้เป็นปัจจัยสำคัญมากอีกอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการเจริญเติบโตของกุ้ง

“ขอนไม้จะปล่อยสารตัวหนึ่งที่เรียกว่า ไคติน ซึ่งสามารถปรับสภาพน้ำให้มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียอ่อนๆ เพราะฉะนั้นขอนไม้จึงมีฤทธิ์เป็นยาอ่อนๆ และกุ้งจะได้ประโยชน์จากการแทะกินด้วย เพราะในขอนไม้มีไคติน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของเปลือกกุ้ง จึงเป็นประโยชน์ต่อกุ้งมาก ทั้งขอนไม้ยังปรับสีของน้ำให้มีสีเหลืองเหมือนน้ำชา ที่เขาเรียกว่า Black Water จะเป็นน้ำที่มีสีเหลืองนิดๆ และมีความใส ทำให้ลดความเครียดของกุ้งได้ (ขอนไม้ที่ดีควรแช่น้ำมาก่อน 2 ปี เพราะขอนไม้ใหม่จะทำให้น้ำมีสีเข้มเร็ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ด้วย แต่ส่วนใหญ่นิยมขอนไม้สารภี เพราะมีความสวยงาม)”

สิ่งที่ต้องระวังในการเลี้ยงกุ้ง คือสารเคมีทุกชนิดที่ส่งผลต่อแมลง 8-10 ขา จะมีผลต่อกุ้งทั้งหมด เช่น ยาฆ่าแมลงสาบ ยาฆ่าหญ้า เจลใส่ผม สเปรย์ปรับอากาศ น้ำยาล้างเล็บ แม้กระทั่งยาทาเล็บที่อยู่บนนิ้วมือ เมื่อจุ่มลงไปในตู้เลี้ยงก็อาจทำให้กุ้งตายได้เช่นกัน

คัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ณัฐYabby House ยิ่งเลี้ยงก็ยิ่งหลงรักบลูเพิร์ล เพราะด้วยความที่มันร่าเริง แสนรู้ ขี้เล่น ไม่ก้าวร้าว ซึ่งต่างจากเครย์ฟิชสายพันธุ์อื่น ถึงแม้ว่าจะใช้เวลาขุนให้เจริญเติบโตจนกว่าจะสามารถเพาะพันธุ์ได้นานร่วมปี แต่ในความน่ารักของบลูเพิร์ลตั้งแต่เล็กจนโตก็ทำให้คนเลี้ยงอดยิ้มไม่ได้ โดยเฉพาะท่าโบกก้ามที่เจ้าของบอกว่า นั่นคือท่าสบายใจ

“แค่เรายืนอยู่หน้าตู้เขาก็จะเดินมาหา สามารถจำหน้าคนเลี้ยงได้ และอีกอย่างที่ชอบ คือสีมันนิ่ง จากเล็กจนโต สีจะเข้มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งโตยิ่งสวย ลายก้ามใหญ่ พ่อแม่พันธุ์ที่เพาะได้ไม่เคยอยู่สภาพอากาศร้อนเลย อยู่เย็นตลอด ถ้ากุ้งอยู่อากาศร้อนมาก่อนจะมีโอกาสในการเพาะพันธุ์น้อย เพราะกุ้งไม่แข็งแรง พ่อแม่พันธุ์ต้องเป็นกุ้งที่แข็งแรง และ Yabby House จะต้องคัดพ่อแม่พันธุ์ที่สวยและแข็งแรง จึงจะเอามาเป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ ซึ่งกุ้งบลูเพิร์ลที่เราเลี้ยงอยู่ไซส์พ่อแม่พันธุ์ 3.5- 6 นิ้ว มีอยู่ประมาณ 200 ตัว ส่วนไซส์แรกเกิดจนถึง 2.5 นิ้ว มีประมาณสัก 400 ตัว”

ในยุคแรกๆ ที่ Yabby House ขาย กุ้งไซส์ 1.5นิ้ว ราคา 2,500-3,000 บาท เพราะพ่อแม่พันธุ์กว่าจะขุนให้ได้ไซส์ใช้เวลานานเป็นปี ซึ่งบลูเพิร์ล ไซส์แม่พันธุ์ที่เหมาะสมต้อง 4 นิ้ว ขึ้นไป เมื่อถึงเวลานี้กุ้งจะเริ่มผสมพันธุ์เองตามธรรมชาติ ฉะนั้นความยากของบลูเพิร์ลจึงเป็นการขุนพ่อแม่พันธุ์ให้ได้ไซส์ 4 นิ้ว ซึ่งต้องใช้เวลานานถึง 12 เดือน อย่างเร็วที่สุดประมาณ 6 เดือน จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กุ้งบลูเพิร์ลมีราคาแพง

“ระยะเวลาในการตั้งท้องของแม่พันธุ์ ประมาณ 40-50 วัน จำนวนไข่ที่ออกมาในแต่ละครั้งของแม่พันธุ์ไซส์ 4 นิ้ว ประมาณ 500 ใบ แต่จะเหลือรอดมาเป็นตัว ไม่เกิน 300 ตัวต่อครอก และที่เคยทำมาน้อยสุดได้ 1 ตัวต่อครอก ซึ่งขึ้นอยู่กับแม่กุ้งว่าจะดูแลไข่ได้ดีแค่ไหน ถ้าแม่กุ้งดูแลไข่ได้ดี ก็จะได้ลูกเยอะ อายุขัยของกุ้งจากข้อมูลในออสเตรเลียอยู่ที่ 5 ปี มีขนาดถึง 10 นิ้ว ไม่รวมก้าม แต่ในไทยยังไม่มีใครเลี้ยงได้เกิน 3 ปี จึงมีขนาดยาวแค่ 6 นิ้วเท่านั้น อยู่ที่ Yabby House นี่เอง เพราะยังไม่มีคนที่ทำแล้วพัฒนาอย่างต่อเนื่องแบบเราเลย”

ลงทุนเพื่อขาย
กว่าจะมาถึงตรงนี้ต้องบอกก่อนเลยว่า Yabby House ลงทุนไปกับการเลี้ยงถึง 2.5 ล้านบาทภายใน 3 ปี อาจเป็นตัวเลขที่ทำให้คนสนใจธุรกิจทางด้านนี้ถึงกับคลั่งได้ แต่ด้วยความยากในการเลี้ยง กว่าจะได้พ่อแม่พันธุ์จึงต้องใช้ระยะเวลา ประกอบกับความต้องการของตลาดค่อนข้างเยอะ แต่คนเพาะน้อย จึงเป็นโอกาสดีที่จะเข้ามาลงทุน แต่ทว่าผู้ลงทุนต้องมีคุณสมบัติใจถึง ทุนหนัก และที่สำคัญต้องเอาใจใส่ทุกขั้นตอนการเลี้ยงอย่างละเอียดด้วย

การลงทุนเริ่มต้นสำหรับผู้เลี้ยงรายใหม่ ถ้าเอาYabby House เป็นต้นแบบ ตอนนั้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ลงทุน 50ตัว ประมาณ 100,000 บาท ไม่รวมอุปกรณ์ ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยงได้แก่ ตู้เลี้ยง หลอดไฟ ระบบกรอง ปั๊มออกซิเจน หิน กรวด เทอร์โมมิเตอร์ (ไม่รวมขาตั้ง) ทั้งหมดประมาณ 1,500 บาท หรืออาจจะราคาสูงกว่าขึ้นอยู่กับระบบกรองที่ใช้ และสิ่งหนึ่งที่คนเลี้ยงต้องมี คือการดูแลให้เป็น ถึงแม้มีพ่อแม่พันธุ์มากขนาดไหน แต่ถ้าดูแลไม่เป็นก็มีค่าเป็นศูนย์

“ตอนนี้ Yabby House พร้อมที่จะเลี้ยงเพื่อขายแล้ว ก่อนหน้านี้ราคากุ้งบลูเพิร์ลไซส์แรกเกิดอยู่ที่ 900 บาท เพราะมีน้อย แต่พอ 6-7 เดือนที่ผ่านมา เริ่มเพาะออกมาได้เยอะขึ้น ต้นทุนลดลง จึงขายอยู่ที่ 600 บาท ไซส์ 1 นิ้ว อยู่ประมาณ 800-1,000 บาท ไซส์ 1.5 นิ้ว คู่ละ 1,500 บาท ขายในราคาโปรโมชันไม่ถูกและไม่แพงเกินไป (ไซส์แรกเกิด ก่อนถึง 1.5 นิ้ว ไม่สามารถคัดเพศได้) และไซส์ 2 นิ้ว คู่ละ 2,500 บาท”

“กลุ่มคนเลี้ยงที่สนใจมีตั้งแต่อายุ 10ขวบ-60 ปี และในต่างประเทศเขาก็สนใจเราอยู่ กลุ่มนี้อาจจะเป็นลูกค้าของเราในอนาคต ซึ่งต่อไปเราต้องให้กรมปศุสัตว์มาตรวจสอบ เพื่อทำใบส่งออก เพราะกุ้งเราสามารถขายได้ทั้งปี เราจึงคิดกันว่าจะลดงานส่วนตัวลงครึ่งหนึ่ง และเราจะเดินหน้าทำเต็มตัว ถ้าทำได้ ก็พร้อมจะให้ข้อมูลคนเลี้ยงที่อยากเพาะพันธุ์ด้วย”

“ราคากุ้งเครย์ฟิชในต่างประเทศแพงกว่า คนไทยเพาะกุ้งจากเราไปขายได้ราคามากกว่าหลายเท่าตัว เพราะฉะนั้นการส่งขายต่างประเทศจึงได้ราคามากกว่าส่งขายในประเทศ และในไทยมีปัญหาเรื่องการตัดราคามาก ตัดราคาแข่งกันจนสินค้าบางตัวเลิกผลิตไปเลย จึงทำให้คนเพาะอยู่ไม่ได้ ก็หันมาส่งออกต่างประเทศอย่างเดียวเลยดีกว่า”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *