ปลาเทวดา (Angel  Fish)

 ปลาเทวดา  มีชื่อสามัญว่า  Angel  Fish   เป็นปลาสวยงามน้ำจืดที่ได้รับความนิยมมานานแล้วเช่นกัน   มักนิยมเลี้ยงในตู้กระจกและมีการตกแต่งหินประดับขนาดใหญ่   หรือขอนไม้   เนื่องจากจะช่วยให้ปลาเทวดาแลดูเด่นมากขึ้น   โดยปลาจะชอบว่ายวนเวียนอยู่ใกล้ๆกับก้อนหินและขอนไม้   และมักจะว่ายน้ำช้าๆพร้อมกับกางครีบต่างๆอยู่ตลอดเวลา   ทำให้แลดูสง่างามมาก   เป็นปลาที่มีนิสัยรักสงบ   ไม่ไล่ทำร้ายกันหรือไล่รบกวนปลาชนิดอื่น   ปกติชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง   ยกเว้นเมื่อจะแพร่พันธุ์วางไข่จะแยกตัวออกไปเป็นคู่   สามารถเลี้ยงรวมกับปลาชนิดอื่นๆในตู้เดียวกันได้ดี   จัดเป็นปลาสวยงามที่มีราคาดีชนิดหนึ่ง   และสามารถขายได้ตลอดปี

1 ประวัติของปลาเทวดา               

                ปลาเทวดามีถิ่นกำเนิดอยู่ในทวีปอเมริกาใต้   แถบลุ่มน้ำอเมซอนและแม่น้ำโอริโนโก(Amazon  and  Orinoco  River)   ในประเทศเวเนซูเอลา   และบราซิล   มักชอบอาศัยอยู่ตามบริเวณที่น้ำไหลไม่แรงมากนัก   และมีพรรณไม้น้ำมาก   อาหารธรรมชาติของปลาชนิดนี้  ได้แก่  ตัวอ่อนแมลงน้ำ   ลูกน้ำ   ไรน้ำ   และแพลงตอนสัตว์   เป็นปลาที่ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพดินฟ้าอากาศได้ดี   โดยเฉพาะถ้าอากาศเป็นพิษปลาจะตายได้ง่าย   ในสมัยก่อนจึงนำปลาเทวดาไปใช้เป็นตัวทดสอบก๊าซพิษในอุโมงค์เหมืองแร่   โดยจะหย่อนโถใส่ปลาเทวดาลงไปก่อน   แล้วดึงขึ้นมาถ้าปลาตายแสดงว่าในอุโมงค์มีก๊าซพิษ   แต่ถ้าปลาไม่ตายแสดงว่าปลอดภัยคนจะลงไปทำเหมืองได้   ซึ่งในธรรมชาติพบปลาเทวดาอยู่  3  ชนิด  

2 ลักษณะรูปร่างของปลาเทวดา                 

                ปลาเทวดามีลำตัวแบบแบนข้าง   ความกว้างและความยาวของลำตัวมีความยาวเกือบเท่ากัน   ครีบหลังและครีบก้นแผ่ขยายออกและค่อนไปทางหาง   ครีบท้องมีลักษณะเป็นเส้นยาว   ตากลมโต   ปากขนาดเล็ก   ลำตัวมีสีเงินแกมเทาและมีลายดำพาดขวางลำตัว  4 – 5  แถบ

              เนื่องจากเป็นปลาที่ได้รับความนิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ทำให้มีการเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย และจากการเพาะเลี้ยงและคัดพันธุ์   ทำให้เกิดสายพันธุ์ (Variety)  ใหม่ๆและมีการตั้งชื่อต่างๆอีกหลายชื่อ   เช่น ปลาเทวดาเงิน (Silver  Angelfish)   ปลาเทวดาดำ   (Black  Angelfish)   ปลาเทวดาลายม้าลาย  (Zebra  Angelfish)   ปลาเทวดาลายหินอ่อน (Marble  Angelfish) ปลาเทวดาสีเทา  (Gray  Angelfish)   ปลาเทวดาสีชอกโกเลต  (Chocolate  Angelfish)  ปลาเทวดาลายดำครึ่งตัว(Half Black  Angelfish)   ปลาเทวดาขาว (White  or  Ghost  Angelfish)   ปลาเทวดาทอง (Gold  Angelfish)   ปลาเทวดาลายจุด (Spotled  Angelfish) และ Koi  Angelfish ถึงแม้ปลาเทวดาจะเป็นปลาจากต่างประเทศ แต่นักเพาะเลี้ยงปลาสวยงามในบ้านเราก็สามารถดำเนินการเพาะพันธุ์   และผลิตลูกปลาเทวดาชนิดต่างๆภายในประเทศไทยได้เป็นจำนวนมาก  

                                ภาพที่ 1ลักษณะภายนอกของปลาเทวดา   

3 การจำแนกทางอนุกรมวิธาน            

                Frank (1969)  ได้จัดลำดับชั้นของปลาเทวดาไว้ดังนี้

                Class                    :  Osteichthyes

                  Order                 :  Perciformes

                    Suborder          :  Percoidei

                      Family             :  Cichlidae

                        Genus            :  Pterophyllum

                          Species        :  scalare ,  altum   และ  leopoldi

ภาพที่ 2ลักษณะของปลาเทวดาชนิด scalare (Pterophyllum scalare)

ภาพที่ 3ลักษณะของปลาเทวดาชนิด altum (Pterophyllum altum)

ภาพที่ 4ลักษณะของปลาเทวดาชนิด leopoldi (Pterophyllum leopoldi)

ปลาเทวดาสีชอกโกเลต  (Chocolate  Angelfish)ปลาเทวดาลายหินอ่อน (Marble  Angelfish)
ที่มา : Free-pet-wallpapers.com Atlantis-jj.com (2012)ที่มา : Free-pet-wallpapers.com Atlantis-jj.com (2012)
Koi  Angelfishปลาเทวดาเงิน (Silver  Angelfish)
ที่มา : Free-pet-wallpapers.com Atlantis-jj.com (2012)ที่มา : Versaquatics (2012)
ปลาเทวดาลายดำครึ่งตัว(Half Black  Angelfish)ปลาเทวดาดำ   (Black  Angelfish)
ที่มา : Fishlinkworldwide.com. 2012ที่มา : Fishlinkworldwide.com. 2012
ปลาเทวดาทอง (Gold  Angelfish)ปลาเทวดาเผือกหางยาว (Albino Veiltail Angelfish)
ที่มา : Fishlinkworldwide.com. 2012ที่มา : Fishlinkworldwide.com. 2012

ภาพที่ 5ลักษณะของปลาเทวดาสายพันธุ์ (Variety) ใหม่ๆ

4 การจำแนกเพศปลาเทวดา               

                ปลาเทวดาเพศผู้และเพศเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกันมาก   การสังเกตุความแตกต่างจากลักษณะภายนอกจะทำได้ยากมาก   และจะพอสังเกตุได้ก็ต่อเมื่อปลาถึงวัยสมบูรณ์เพศแล้ว   โดยจะต้องอาศัยความชำนาญและประสบการณ์พอสมควร   ลักษณะที่พอจะบ่งบอกความแตกต่างลักษณะเพศของปลาเทวดามีดังนี้

                4.1 บริเวณหน้าผาก   ปลาเทวดาเพศผู้จะมีส่วนหัวด้านบน (หน้าผาก) โหนกนูนและสีเข้มกว่าปลาเพศเมีย

                4.2 ติ่งเพศ   ปลาเทวดาเพศเมียจะมีติ่งเพศเป็นท่อยื่นยาวออกมาค่อนข้างมาก และมีขนาดใหญ่กว่าติ่งเพศของเพศผู้   ซึ่งจะปรากฎให้เห็นได้ชัดเจนในช่วงผสมพันธุ์วางไข่เท่านั้น  

ภาพที่ 6แสดงลักษณะส่วนหัวและติ่งเพศของปลาเทวดาเพศผู้  

                                                               ที่มา : Isabella (2007)

.

ภาพที่ 7แสดงลักษณะส่วนหัวและติ่งเพศของปลาเทวดาเพศเมีย  

                สำหรับวิธีการจำแนกเพศปลาเทวดาที่ดีที่สุด  คือ  ปล่อยให้ปลาจับคู่กันเอง   เมื่อปลามีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์  หรือถึงฤดูผสมพันธุ์   ปลาเพศผู้และเพศเมียจะมีการเลือกคู่หรือจับคู่กัน   และมักจะว่ายน้ำคลอเคลียไปด้วยกัน   ดังนั้นถ้านำปลาเทวดาที่สมบูรณ์เพศแล้ว  หรือมีขนาด  4 – 6  นิ้ว   มาเลี้ยงรวมกันในตู้ปลา ขนาด  20 – 36  นิ้ว   จำนวนตู้ละ  10 – 20  ตัว แล้วแต่ขนาดตู้ปลา   ใช้เวลาประมาณ  25 – 30  วันปลาจะเริ่มมีการจับคู่กัน   ก็พยายามแยกคู่ออกมา   จะได้ปลาเพศผู้และเพศเมียมาเป็นคู่อย่างแน่นอน   และเป็นวิธีการที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน

5 การแพร่พันธุ์ของปลาเทวดา                

                ในธรรมชาติปลาเทวดาเป็นปลาที่ต้องมีการเลือกคู่หรือจับคู่กันก่อนการแพร่พันธุ์วางไข่   จากนั้นจะเลือกพื้นที่ซึ่งมักจะเป็นใบพันธุ์ไม้น้ำชนิดที่มีใบกว้างเพื่อวางไข่   หรืออาจวางไข่บนวัสดุแข็งผิวเรียบ  เช่น  ตามโขดหิน   หรือขอนไม้   โดยแม่ปลาจะค่อยๆปล่อยไข่ติดกับวัสดุเป็นแถวยาวครั้งละ  10 – 15  ฟอง   แล้วว่ายน้ำออกมา   จากนั้นปลาเพศผู้จึงว่ายเข้าไปค่อยๆปล่อยน้ำเชื้อไล่ไปตามเม็ดไข่   เสร็จแล้วจะว่ายน้ำออกมาเช่นกัน   แล้วปลาเพศเมียก็จะเข้าไปวางไข่อีก   ทำเช่นนี้สลับกันไปจนไข่หมดท้อง   ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ  1  ชั่วโมง   จำนวนไข่ทั้งหมดที่วางแต่ละครั้งจะมีไข่ประมาณ  200 – 500  ฟอง   จากนั้นทั้งปลาเพศผู้และเพศเมียจะช่วยกันดูแลรักษาไข่   โดยจะคอยโบกพัดน้ำบริเวณที่วางไข่เพื่อเพิ่มออกซิเจนอย่างสม่ำเสมอ   และจะเก็บกินไข่ที่เสียออกด้วย   การพัฒนาของไข่จะใช้เวลาประมาณ  48  ชั่วโมง   ลูกปลาก็จะฟักออกจากไข่แล้วตกลงสู่พื้น   ลูกปลาจะลงไปเกาะอยู่ตามพื้น หรือตามวัสดุแข็ง เช่น กิ่งไม่ ขอนไม้ ก้อนหิน หรือผนังตู้ โดยในระยะแรกนี้จะมีถุงไข่แดงขนาดใหญ่อยู่   และจะใช้เวลาประมาณ  2 – 3  วันจึงจะใช้อาหารจากถุงไข่แดงหมด   จากนั้นลูกปลาจะว่ายรวมฝูงหาอาหารอยู่ใกล้ๆพ่อแม่ปลา   พ่อแม่ปลาจะคอยป้องกันศัตรูให้ลูกปลา   จนลูกปลาเจริญเติบโตพอควรก็จะแยกฝูงออกไปหากินกันเอง   พ่อแม่ปลาก็จะออกหาอาหารและสามารถวางไข่ชุดใหม่ได้อีกในเวลาประมาณ  25 – 30  วัน   ส่วนลูกปลาที่แยกตัวไปจะเจริญเติบโตเป็นปลาเต็มวัยในเวลาประมาณ  6 – 8  เดือน  

ภาพที่ 8แสดงลักษณะการวางไข่ติดบนใบไม้ของปลาเทวดา  

ภาพที่ 9แสดงลักษณะปลาเทวดาที่กำลังวางไข่ติดกับท่อพลาสติก  

ภาพที่ 10แสดงลักษณะลูกปลาเทวดาที่พึ่งฟักตัวเกาะรวมกลุ่มที่ขอนไม้  

ภาพที่ 11แสดงลักษณะลูกปลาเทวดาที่ฟักตัวและถุงไข่แดงยุบแล้ว จะว่ายน้ำหากินรวมกลุ่มใกล้พ่อแม่ปลา 

6 การเพาะพันธุ์ปลาเทวดา            

                การดำเนินการเพาะพันธุ์ปลาเทวดากระทำได้ไม่ยากนัก   ผู้เลี้ยงปลาสามารถจัดเตรียมอุปกรณ์ต่างๆได้อย่างง่ายๆ  ดังนี้

                6.1 การเตรียมบ่อเพาะ   บ่อที่จะใช้เพาะพันธุ์ปลาเทวดาอาจใช้ตู้กระจก   หรืออ่างซีเมนต์ก็ได้   แต่ที่นิยมใช้กันมากที่สุด  หรือเหมาะสมมากที่สุด คือ  ตู้กระจก   เพราะจะช่วยให้สังเกตุได้ว่าปลาวางไข่เมื่อใด   และไข่มีการพัฒนาไปอย่างไรบ้าง   ขนาดของตู้ใช้ได้ตั้งแต่ขนาด  14 – 36  นิ้ว   ถ้าเป็นตู้เล็กจะปล่อยปลาตู้ละ  1  คู่   แต่ถ้าตู้ใหญ่จะใส่ปลาได้  2 – 3  คู่   ภายในตู้ควรมีพันธุ์ไม้น้ำบ้าง   และจะไม่รองพื้นตู้ด้วยกรวดหรือเศษปะการังเลย   ควรปล่อยพื้นตู้โล่งๆ   

                6.2 ที่วางไข่ของปลา  จัดเตรียมอุปกรณ์เพื่อให้ปลาใช้เป็นที่วางไข่ ซึ่งปัจจุบันมีการเลือกใช้กันหลายรูปแบบ ได้แก่ 

         – พรรณไม้น้ำ ชนิดของพรรณไม้น้ำที่นิยมกัน  คือ อเมซอน เนื่องจากมีใบกว้างหนา แข็งแรง   

        – แผ่นกระจก   แผ่นพลาสติก  กระเบื้องแผ่นเรียบ  ขนาดประมาณ 4 x 10 นิ้ว  หรือท่อ PVC     วางเอียงทำมุม  30 – 60  องศากับพื้นตู้

        – โดม หรือกระถางต้นไม้ ที่มีเนื้อเนียน

                6.3 การเติมอากาศ ควรเปิดแอร์ปั๊มเพื่อเพิ่มออกซิเจน   แต่ไม่ควรเปิดให้แรงมากนัก  

                6.4 การควบคุมอุณหภูมิ ควรใช้ฮีตเตอร์ ( Heater) ควบคุมอุณหภูมิของน้ำให้อยู่ระหว่าง 28 – 32 องศาเซลเซียส จะช่วยให้ปลาวางไข่ได้เกือบตลอดปี

                6.5 การคัดพ่อแม่พันธุ์ปลา   ปลาที่จะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ควรเป็นปลาที่มีอายุประมาณ  8 – 10  เดือนขึ้นไป   ควรเลือกพ่อแม่ปลาที่มีขนาดใหญ่และสมบูรณ์   นำมาปล่อยเลี้ยงรวมกันไว้ในตู้กระจกเพื่อให้ปลาจับคู่กันเองตามธรรมชาติ  เพราะการแยกเพศพ่อแม่ปลาจากการสังเกตลักษณะ ความแตกต่างจะค่อนข้างยาก ปลาเทวดาจะเพาะพันธุ์ได้ดีตั้งแต่เดือนมีนาคม  ถึง  เดือนตุลาคม   ดังนั้นควรจัดปลาที่จะใช้เพาะพันธุ์ลงบ่อเลี้ยงตั้งแต่ต้นเดือนกุมภาพันธุ์   หลังจากปล่อยปลาลงเลี้ยงประมาณ  1  เดือน   จึงหมั่นสังเกตุเพื่อหาพ่อแม่พันธุ์ที่มีความพร้อมที่จะผสมพันธุ์   ก็จะพบว่ามีปลาที่แยกคู่ออกจากฝูง   พร้อมกับมีการสร้างอาณาเขตของตัวเองขึ้น   โดยไม่ยอมให้ปลาตัวอื่นเข้าใกล้คู่ของตัวเอง หรือบริเวณที่คู่ของตัวเองเลือกไว้   ก็คัดแยกปลาคู่ดังกล่าวนำมาปล่อยลงบ่อเพาะ   ปลาก็จะเลือกบริเวณที่จะวางไข่   แล้วช่วยกันทำความสะอาดโดยใช้ปากแทะเล็มตะไคร่น้ำและเศษวัสดุต่างๆออก   พร้อมทั้งพ่นน้ำไล่ตะกอนออกจนเกลี้ยง   แต่ถ้าหากผู้เลี้ยงพึ่งจัดเตรียมบ่อเพาะและวัสดุวางไข่ไว้ให้   ปลาก็จะวางไข่ได้ง่ายขึ้น   นอกจากนั้นปลาอาจเลือกวางไข่ที่บริเวณผนังกระจกของตู้ปลา  หรือวัสดุผิวเรียบอื่นๆที่อยู่ในตู้ก็ได้  

                6.6 ข้อควรระวังในการเพาะปลาเทวดา

                                6.6.1 ไม่ควรใส่กรวดหรือปะการังรองพื้นตู้โดยเด็ดขาด   เพราะลูกปลาที่ฟักออกจากไข่จะตกลงพื้น   ก็จะทำให้แทรกลงไปตามช่องว่างของก้อนกรวดและปะการัง   แล้วมักจะตายเนื่องจากขาดอากาศหายใจ   หรือไม่สามารถว่ายกลับขึ้นมาได้

                                6.6.2 ในระหว่างที่ปลาวางไข่แล้วต้องระวังอย่าให้ปลาตื่นตกใจ   หรือระวังอย่าให้มีการเคาะที่ผนังตู้ปลาโดยเด็ดขาด   เพราะเมื่อพ่อแม่ปลาได้รับความตกใจก็จะกินไข่ของตัวเองจนหมด

                                6.6.3 ในระหว่างที่ปลาวางไข่แล้วต้องงดการให้อาหารทุกชนิด   จนกว่าจะแยกลูกปลาออกไปอนุบาล   จึงเริ่มให้อาหารแก่พ่อแม่ปลา

7 การอนุบาลลูกปลาเทวดา          

                เมื่อปลาวางไข่แล้วอาจปล่อยให้พ่อแม่ปลาดูแลรักษาไข่เอง   หรืออาจแยกเอาไข่ออกมาฟักเองก็ได้   แต่จะต้องเสียเวลาในการดูแลรักษาไข่ค่อนข้างมาก   เพราะไข่ปลามักถูกทำลายด้วยเชื้อรา   การปล่อยให้พ่อแม่ปลาฟักไข่เองจะให้ผลดีกว่า   ข้อสำคัญ คือ  จะต้องงดอาหารระหว่างที่ปลาดูแลรักษาไข่   เพราะถ้าปลาได้รับอาหารก็มักจะกินไข่ของตัวเองด้วย

                การแยกลูกปลาออกมาอนุบาล   ควรแยกเมื่อลูกปลาเริ่มกินอาหาร  สังเกตได้จากถุงอาหารที่ส่วนท้องจะยุบตัวหมด  และลูกปลาจะว่ายน้ำรวมฝูงใกล้ๆพ่อแม่ปลา  ลูกปลาที่แยกออกมาจะอนุบาลในตู้กระจกหรืออ่างซีเมนต์ก็ได้   สิ่งสำคัญสำหรับการอนุบาลลูกปลาเทวดาก็  คือ  การหาอาหารที่จะใช้เลี้ยงปลา   เพราะปลาเทวดาปกติจะเป็นปลาที่กินอาหารมีชีวิต   จัดเป็นพวกกินเนื้อที่เป็นพวกกินแมลงและตัวอ่อนของแมลง (Insectivores) เป็นหลัก   ดังนั้นลูกปลาวัยอ่อนของปลาเทวดาจะต้องการอาหารที่มีชีวิต   ฉนั้นอาหารที่ดีที่สุดที่จะให้ลูกปลาเทวดาก็คือ  ไรแดง  หรืออาร์ทีเมีย   ลูกปลาจะกินอาหารเป็นอย่างดีและเจริญเติบโตรวดเร็วมาก   ทั้งนี้จะต้องมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำอย่างสม่ำเสมอด้วย   จะใช้ระยะเวลาในการอนุบาลประมาณ  15 – 20  วัน   ลูกปลาจะมีขนาดประมาณ  2 – 3  เซนติเมตร   ก็เริ่มหัดให้กินอาหารสมทบ   โดยใช้อาหารปลาสวยงามชนิดเม็ดเล็กพิเศษ   ถึงแม้จะค่อนข้างมีราคาแพงแต่ก็จะช่วยให้ปลากินอาหารสมทบได้ดี   โดยเริ่มให้แทนการให้ไรในตอนเช้า   ลูกปลาซึ่งเคยชินกับการให้อาหารก็จะมากินอาหาร   ยิ่งถ้ามีลูกปลาอยู่จำนวนมาก   จะมีลูกปลาบางส่วนขึ้นมาลองฮุบกินเม็ดอาหาร   จากนั้นก็จะมีปลาตัวอื่นๆขึ้นมากินตาม   จะทำให้ปลากินอาหารสมทบได้อย่างรวดเร็ว   ประมาณ  3 – 5  วันปลาจะคุ้นกับการกินอาหารเม็ดเป็นอย่างดี   เลี้ยงด้วยอาหารเม็ดเล็กพิเศษประมาณ  10  วัน   ก็เปลี่ยนมาเป็นอาหารปลาสวยงามชนิดธรรมดา   หรือใช้อาหารเลี้ยงปลาดุกเล็กซึ่งเป็นอาหารเม็ดลอยน้ำเช่นกัน   ถึงแม้อาหารเหล่านี้จะมีขนาดเม็ดค่อนข้างใหญ่   แต่เมื่อปลามีความเคยชินกับการกินอาหารเม็ดแล้วก็จะค่อยๆตอดกินได้เอง

8 การเลี้ยงปลาเทวดา                   

                การเลี้ยงปลาเทวดาในปัจจุบันค่อนข้างง่ายมาก   เนื่องจากปลาเทวดาถูกนำมาเลี้ยงหลายชั่วอายุ   ทำให้ปลามีการปรับตัวเคยชินกับการกินอาหารสมทบหรืออาหารเม็ดได้ดี   ดังนั้นการเลี้ยงปลาเทวดาในปัจจุบันมักจะใช้อาหารเม็ดเป็นหลัก   ซึ่งสามารถทำให้ปลาเจริญเติบโตสมบูรณ์ได้เป็นอย่างดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *