แนวทางการเลี้ยง ปลาเชอร์รี่บาร์บ  (Cherry barb)

เชอรรี่บาร์บ รายละเอียดโพสต์ | Pecgo โลกมหัศจรรย์ของสัตว์เลี้ยง

 ปลาในสกุล ปลาบาร์บ หรือ ปลาที่เป็นสกุลเดียวกับปลาตะเพียนนั้น มีหลากหลายชนิด ตั้งแต่ปลาขนาดค่อนข้างใหญ่ และ ปลาขนาดเล็กจิ๋ว อย่างเจ้า เชอร์รี่บาร์บนี่ ต่างก็ล้วนมีเสน่ห์ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ชวนให้ผู้คนหลงใหล และ เสาะหามาเป็นสัตว์น้ำประจำตู้ของตัวเองครับ  ปลาเชอร์รี่ บาร์บนี้นั้น มีถิ่นกำเนิดตามธรรมชาติ อยู่ในประเทศศรีลังกา มีความว่องไวปราดเปรียวและมีพฤติกรรมอาศัยอยู่รวมกันเป็นฝูง

     ปลาเชอร์รี่ บาร์บ เป็นปลาขนาดเล็ก แต่เหมาะสำหรับ ผู้ที่เริ่มเลี้ยงปลาใหม่ๆ เนื่องจากเป็นปลาที่ไม่เรื่องมากในเรื่องของค่าน้ำต่างๆ สามารถปรับตัวให้อยู่ในสภาพน้ำที่มีความเป็นกรด เป็นด่างต่างๆ ได้เป็นอย่างดี แต่ไม่ใช่เป็นน้ำเน่าเสียนะ….ขอให้เป็นน้ำที่สะอาด จะมีค่าความเป็นกรด – ด่าง สูง หรือ ต่ำกว่ามาตรฐานนิดหน่อย ก็ไม่มีปัญหาอะไรในการดำรงชีวิต

ทางด้านซ้าย จะเป็นปลาเชอร์รี่บาร์บตัวเมีย ซึ่งสีจะอ่อนกว่าตัวผู้ครับ
    ปลาเชอร์รี่บาร์บ จัดว่าเป็นปลาที่มีความรักสงบ ไม่เกะกะระรานใคร ดังนั้น จึงสามารถเลี้ยงรวมกันเป็นฝูงๆ กับ ปลาเล็กๆด้วยกัน ไม่ว่าจะมาจากลุ่มแม่น้ำใดก็ตาม จะลุ่มแม่น้ำคงคา ปลาจำพวกบาร์บเหมือนกัน, จากลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา 1 , เจ้าพระยา 2 , เจ้าพระยา 3 เอ๊ย !!! ไม่ใช่ แค่ ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเดียวเฉยๆ เช่นปลาเล็กๆในกลุ่มปลาซิว หรือจะมาจากลุ่มแม่น้ำอะเมซอน อย่างพวกปลาเล็กๆในตระกูลเตตร้า ก็ไม่มีปัญหา ในการรังแก กดขี่ ข่มเหงความคิดเห็น ที่เห็นต่างกัน แต่ประการใด… เอ เขียนไป เขียนมา เหมือนทำไมมันจะชวนไปหาคุกๆ ยังไงไม่รู้แฮะ เอาเป็นว่า เป็นปลาเล็กๆ ที่เลี้ยงง่าย รวมกับปลาเล็กๆ ได้หลากหลายชนิดก็แล้วกันเด้อครับเด้อ 

    ในสถานที่เลี้ยง ควรจะมีการปลูกพรรณไม้น้ำ หรือ วางก้อนหินต่างๆ เลียนแบบในธรรมชาติ จะทำให้ปลาไม่เครียด และ มีสุขภาพดี สีสันสวยงามได้ มากกว่าเลี้ยงในตู้เปล่าๆ ที่ไม่มีอะไรประดับเอาไว้เลย ปลาชนิดนี้ จะว่ายหาอาหารแทบจะตลอดเวลา และกินอาหารได้อย่างหลากหลาย ทั้งอาหารสด และ อาหารแห้งสำเร็จรูปต่างๆ  ควรให้อาหารแต่พอดี และ เป็นอาหารขนาดเล็กๆ ที่เขาสามารถทานได้โดยสะดวก เพื่อลดปัญหาการเน่าเสียของน้ำครับ

    สำหรับในการผสมพันธุ์นั้น ผู้เลี้ยงสามารถแยกเพศของปลาเชอร์รี่บาร์บได้โดยการสังเกตจากขนาด และ สีสัน , ปลาตัวผู้นั้นจะมีขนาดเล็กกว่าตัวเมียพอสมควร แต่มีสีสันที่เข้มและสวยมากว่าปลาตัวเมีย โดยเฉพาะในช่วงที่พร้อมทำการผสมพันธุ์ ปลาตัวผู้นั้น ก็จะยิ่งมีสีเข้มจัด และ ปลาตัวเมีย ก็จะมีขนาดอวบใหญ่ขึ้นกว่าปกติมาก เนื่องจากมีไข่ที่พัฒนาอยู่ในท้องนั้น ผู้เลี้ยงอาจจะใช้การจับคู่แบบหมู่ในการผสมได้

     โดยเมื่อปลาตัวเมียท้องแก่แล้ว ก็จะทยอยปล่อยไข่ออกมา และปลาตัวผู้ ก็จะตามไล่ฉีดน้ำเชื้อเข้าไปผสมกับไข่ หลังจากนั้นไข่ก็จะร่วงลงไปตามพื้นหรือติดอยู่บริเวณพรรณไม้น้ำ หรือวัสดุต่างๆ ภายในตู้เพาะนั่นเองครับ หลังจากนั้น ให้เราจับพ่อ และ แม่พันธุ์ออกจากตู้ให้เรียบร้อย อีกประมาณ 5 วันถัดมา ลูกปลาก็จะเริ่มฟักเป็นตัวออกจากไข่ ผู้เลี้ยงสามารถให้อาหารลูกปลาขนาดเล็กได้ด้วยลูกไรทะเลแรกฟัก หรือ ไรฝุ่น , ไรน้ำนางฟ้าแรกฟัก ,หนอนจิ๋ว ฯลฯ ได้ จนกว่าลูกปลาจะเริ่มโตขึ้นมาก ก็จะเริ่มเปลี่ยนมาเป็น ลูกน้ำ,ลูกไร,ไรทะเล และ หนอนแดง ที่มีขนาดใหญ่ขึ้นได้ครับ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *