ชะมด (Viverridae) 

เป็นสัตว์จัดอยู่ในไฟลัมสัตว์มีแกนสันหลัง ชั้นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอันดับสัตว์กินเนื้อจำพวกหนึ่ง ในวงศ์ที่มีชื่อว่า Viverridae มีทั้งหมด 35 ชนิด โดยมากเป็นสัตว์ที่มีรูปร่างเพรียว หน้าแหลมยาวเหมือนสุนัข ขนสีเทาหรือนํ้าตาล มีลายจุดสีดำตามยาวทั่วตัว หางและขนหางยาวมีลายเป็นปล้อง ที่สำคัญเป็นสัตว์ที่มีต่อมผลิตกลิ่นแรงใกล้อวัยวะเพศเกือบทุกชนิด ซึ่งกลิ่นนี้เองใช้เป็นเครื่องประกาศอาณาเขต ใช้ป้องกันตนเองและสื่อสารระหว่างกัน

เป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน กินอาหารได้หลากหลายชนิดทั้งพืชและสัตว์ขนาดเล็ก อาศัยอยู่ได้ในป่าหลากหลายประเภท ทั้งป่าดิบ ป่าเสื่อมโทรมและแม้แต่พื้นที่เกษตรกรรมของมนุษย์  ปีนต้นไม้ได้เก่ง และในบางชนิดสามารถว่ายน้ำและดำน้ำเพื่อหาสัตว์น้ำกินเป็นอาหารได้อีกด้วย

เป็นสัตว์ที่กระจายอยู่ทั่วไปในทุกทวีปที่มีอากาศอบอุ่น สำหรับในประเทศไทยพบหลายชนิด ในหลายสกุล โดยชนิดที่ใหญ่ที่สุดที่พบคือ หมีขอ(Arctictis binturong) และเล็กที่สุดคือ ชะมดเช็ด(Viverricula indica) และใช้กลิ่นที่ชะมดผลิตออกมานี้ทำเป็นยาจำพวกสมุนไพรและเครื่องหอม ถึงกับมีการเลี้ยงกันเพื่อเอา ไขของชะมด มาเป็นวัตถุดิบ

ในประเทศอินโดนีเซียนิยมให้ชะมดที่อยู่ในสกุล Paradoxurus กินเมล็ดกาแฟที่ชาวไร่ปลูก เพื่อรอเมล็ดที่ปะปนมากับมูลของมันไปแปรรูปเป็นกาแฟสำเร็จรูปที่มีรสชาติหอมหวานกว่าเดิม เนื่องจากในท้องของชะมดนั้นเมล็ดกาแฟจะผสมกับเอ็นไซม์และสารเคมีที่อยู่ในกระบวนการย่อยของมัน ทำให้กาแฟมีกลิ่นและลักษณะเฉพาะ และในประเทศเวียดนามก็นิยมทำเช่นนี้เช่นเดียวกัน

ชื่อสามัญในภาษาไทยเรียกว่า “ชะมด” ในบางสกุลหรือบางชนิดจะเรียกว่า “อีเห็น” ภาษาอังกฤษเรียกว่า “civet” ในภาษาอีสานเรียกว่า “เห็นอ้ม” ในภาษาใต้เรียกว่า “มูสัง” และในภาษามาเลย์เรียกว่า “ลินเส็ง”

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *