ไก่แจ้ (Bantam)

ชื่อสามัญ : ไก่แจ้ (Bantam)
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gallus gallus
วงศ์ : Phasianidae


ไก่แจ้ เป็นไก่พื้นเมือง (Domestic Fowl) ของไทยชนิดหนึ่ง อยู่คู่กับสังคมไทยมาช้านาน สืบทอด
สายพันธุ์มาจากไก่ป่าเช่นเดียวกับไก่ประเภทอื่น ๆ มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เดิมเป็นไก่ป่าที่มีความปราดเปรียว ขี้ระแวง เข้าใกล้ไม่ได้ แต่เพราะมีความสวยงาม น่ารัก และการเลี้ยง
ไม่ยุ่งยาก ทำให้เกิดการพัฒนาสายพันธุ์ให้สามารถอยู่ร่วมกับผู้เลี้ยงได้ จับต้องได้ และอุ้มได้ มีการพัฒนา
ต่อเนื่องมาจนสามารถพัฒนาไก่แจ้ไทยได้ถึง 12 สี โดยมีความสวยงามตามมาตรฐานสากล


ไก่แจ้ สีไก่ป่าเหลือง 


เดิมทีชาวญี่ปุ่นได้นำไก่แจ้มาจากจีนตอนใต้เมื่อ พ.ศ. 2149 – 2179 จากนั้นได้มีการพัฒนาสายพันธุ์จนได้
รูปทรงและสีสันที่สวยงาม ในเวลาต่อมาญี่ปุ่นได้นำไก่แจ้จากแถบคาบสมุทรอินโดจีนไปผสมเพิ่มเติมอีก
ใช้เวลาในการคัดสายพันธุ์นับร้อยปี จนไก่แจ้ญี่ปุ่นได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน
 


ไก่แจ้สีทอง

ในแถบยุโรปที่มีการนิยมเลี้ยงไก่แจ้ก็เพราะว่า เมื่อสมัยโบราณชนชาติจีนมีการติดต่อซื้อขายกับชาวอังกฤษ
ชาวจีนได้นำไก่แจ้ติดเรือสำเภาไปด้วย เพื่อเป็นสัตว์เลี้ยงแก้เหงาในเรือ เมื่อพ่อค้าชาวอังกฤษเห็นเข้า
ก็เกิดความสนใจและได้นำไปเลี้ยงยังประเทศอังกฤษ ในตอนแรกก็มีการเลี้ยงกันเฉพาะพ่อค้าและชาวบ้าน
ต่อมาพระนางวิคตอเรียเห็นเข้าและพอพระทัยจึงมีการนำเข้าไปเลี้ยงในพระราชวังเป็นครั้งแรก




ประเทศไทยมีการเลี้ยงไก่แจ้มานานแล้ว แต่ไม่ได้สนใจในการพัฒนาสายพันธุ์อย่างจริงจัง
จนเมื่อประมาณ 20-30 ปี ที่ผ่านมานี้มีผู้ให้ความสนใจพัฒนาสายพันธุ์ไก่แจ้ให้เป็นไก่แจ้ที่มีลักษณะ
แบบสากลและสวยงาม จึงได้มีการสั่งซื้อไก่แจ้เข้ามาผสมพันธุ์กับพันธุ์ดั้งเดิมของไทย สายพันธุ์ที่สั่ง
เข้ามาเพื่อพัฒนาสายพันธุ์นั้นคือ สายพันธุ์จากประเทศญี่ปุ่น




ลักษณะโดยรวมทั่วไปของเพศผู้และเพศเมียนั้น ตัวต้องเล็ก แคระ และเตี้ย เวลาเดินก้าวย่าง ท่าทางต้วมเตี้ยม
นุ่มนวล ลำตัวสั้นกว้าง และกลม อกใหญ่หางตั้งตรง ไม่เอียงข้างใดข้างหนึ่งและมีลักษณะแผ่กว้างพอสมคว
หงอนใหญ่และมีขนหนาแน่นสมบูรณ์ ลักษณะดังกล่าวถือเป็นที่ยอมรับกันอย่างเป็นมาตรฐานสากล
มาจนถึงปัจจุบัน ทั้งในยุโรปและอเมริกา
 


ไก่แจ้ สีไก่ป่าเหลือง 

สีไก่แจ้ไทย 12 สี (ลักษณะมาตรฐานและสีไก่แจ้ กองบำรุงพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์)
บางสีก็สูญพันธุ์ไปแล้ว บางสีก็เกือบสูญพันธุ์ มีดังนี้








ลักษณะไก่แจ้ขาวหางดำ

ตัวผู้ – ใบหงอนมีเม็ดทราย หรือพื้นกำมะหยี่ สีแดงสด
– ตาสีแดง หรือสีส้มปนแดง
– จงอยปากสีเหลือง
– ขนสีขาวบริสุทธิ์ทั้งตัว ขนปีกชั้นแรกและชั้นที่สองแซมดำ แต่เมื่อหุบปีกแล้ว จะดูเป็นสีขาวเกือบทั้งปีก
– หางพัดสีดำ หางชัย และขนข้างหางพัดแต่ละเส้นสีดำ แต่ขลิบขอบด้วยสีขาวคมชัด
– แข้ง นิ้ว สีเหลือง เล็บสีขาว
 


โชว์บั้นท้าย ไก่ขาวหางดำ

ในที่นี้จะกล่าวถึงไก่แจ้บางส่วนที่ จขบ. สนใจและหรือเคยมีอยู่ในครอบครอง เคยเล่นอยู่พักใหญ่ ๆ
เริ่มตั้งแต่ไก่ขาวหางดำคู่แรก แล้วกลายเป็นฟาร์มย่อย ๆ มีหลากหลายสายพันธุ์ตามมา
จขบ. แค่เลี้ยงเล่นสนุก ๆ แล้วตอนนี้ก็เลิกแล้วนะคะ ไม่ต้องติดต่อมา แฮ่



ไก่แจ้ เป็นสัตว์เลี้ยงที่มีเสน่ห์น่ารักน่าเอ็นดูมาก ถ้าเลี้ยงปล่อยแบบธรรมชาติ ไม่ขังกรง จะเห็น
เขาเดินหากินตามสนามหญ้า แค่โปรยข้าวเปลือกหรืออาหารเม็ด ประชากรไก่ทั้งหลายก็จะกรูเข้ามา
จิกกินเหมือนปาร์ตี้ย่อย ๆ บ้างก็เดินต้วมเตี้ยม เป็นภาพที่น่ารักมาก ทำให้สวนดูมีชีวิตชีวา
เหมือนอัญมณีมีชีวิตเดินได้


ขาวหางดำ 

ลักษณะไก่แจ้ที่ดีที่คัดสายพันธุ์ … หงอนสวยสมส่วนมี 4-5 จัก ขาสั้น อกกลมสมส่วน หางบาน
สีถูกต้องและอื่น ๆ ญี่ปุ่นนำไก่แจ้ไทยไปประเทศเขาเมื่อประมาณสามสี่ร้อยปีก่อน นำไปเลี้ยงคัด
สายพันธุ์จนโด่งดังไปทั่วโลก คือ สีขาวหางดำ

– เพศผู้ มีน้ำหนักตัวประมาณ 730 กรัม ถ้าน้ำหนักตัวสูงกว่ามาตรฐานเกิน 120 กรัม ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน
– เพศเมีย น้ำหนักตัวประมาณ 610 กรัม ถ้าน้ำหนักตัวสูงกว่ามาตรฐานเกิน 120 กรัม ถือว่าไม่ได้มาตรฐาน


ไก่แจ้สีเบญจรงค์

ลักษณะไก่แจ้สีเบญจรงค์

ตัวผู้ – หน้า หงอน เหนียง ติ่งหู สีแดงสด ใบหงอนมีเม็ดทราย หรือพื้นกำมะหยี่
– ตาสีแดงหรือสีส้ม
– จงอยปาก แข้ง นิ้ว เล็บ สีเหลือง หรือสีเขียว
– เส้นขนของตัวผู้สังเกตได้ง่าย เริ่มตั้งแต่หัว จรดสร้อยคอและระย้า
ปลายของเส้นขนจะเป็นสีงาช้างถึงกลางเส้น จากนั้น เป็นสีแดงทับทิมต่อไปจนถึงโคนขน
– หน้าอกเป็นแว่นสีน้ำตาลแดง โคนของใบขนเป็นสีดำ
– หลังและหัวปีกทั้งสองข้างเป็นสีแดงทับทิม
– ปีกสีดำเหลือบเขียวปีกแมลงทับ
– สาบปีกเป็นสีน้ำตาลแดงทั้งสองข้าง
– หางพัดและหางชัย เป็นสีดำเหลือบ เขียวปีกแมลงทับ
– บัวหงายเป็นสีดำ
– สรุปสีของตัวผู้ 5 สี คือ งาช้าง, แดงทับทิม, น้ำตาลแดง, ดำ, เขียวปีกแมลงทับ


ตัวเมีย – คล้ายสีลายนกกระจอก แต่ต่างกัน คือใบหน้าจะเป็นวงขาวครีม
สร้อยคอเป็นสีน้ำตาลเทาขลิบขอบด้วยสีครีม
– หน้าอกเป็นสีครีมออกสีน้ำตาล หรือ ใบขนอาจขลิบด้วยขอบสีน้ำตาลเทา
– ใบขนทั้งตัวจนถึงหาง หรือเครื่องคลุมสีน้ำตาลเทา ขลิบขอบด้วยสีครีม และก้านขนเป็นสีครีม
– หางพัด หางชัย เป็นสีน้ำตาลเทา ขลิบขอบด้วยสีครีม ก้านขนสีครีม
– ส่วนอื่น ๆ เช่นเดียวกับตัวผู้





ไก่แจ้ สี ไก่ป่าเหลือง

ลักษณะไก่แจ้สีไก่ป่าเหลือง

ตัวผู้ – หน้า หงอน เหนียง ติ่งหู สีแดงสด ใบหงอนมีเม็ดทราย หรือพื้นกำมะหยี่
– ตาสีแดง หรือส้มปนแดง
– จงอยปากสีเหลือง หรือ ดำอมเหลือง
– ขนหัวเป็นสีส้มแดง ไล่เรื่อยไปเป็นสร้อยคอสีส้มเหลืองสว่างสดใส
– ระย้า สีเดียวกับสร้อยคอ
– ขนหลังและหัวปีก เป็นสีส้มแดง
– ปีกทั้งสองข้างเป็นสีน้ำเงินอมม่วง
– สาบปีกเป็นสีน้ำตาลแดง
– ขนอก – ใต้ท้อง สีดำ
– ขนหางทั้งหมดเป็นสีดำเหลือบเขียวปีกแมลงทับ
– แข้ง นิ้ว เล็บ สีเหลืองหรือสีเขียวอมเทา

ตัวเมีย – ขนทั้งตัวสีครีมนวล สร้อยคอเป็นสีน้ำตาลอมแดง
หลัง-ปีก-โคนหาง เป็นสีนวลอมน้ำตาล หางดำอมน้ำตาลเล็กน้อ


ไก่แจ้สีทอง 

ลักษณะไก่แจ้สีทอง

ไก่แจ้สีทอง ตัวผู้ หน้า หงอน เหนียง ติ่งหู สีแดงสด หงอนเป็นเม็ดทราย หรือพื้นกำมะหยี่สีแดงสด ตาสีเหลือง
หรือส้ม จงอยปากสีเหลือง ขนสีทองสดใส ขนปีกชั้นแรกและชั้นที่สองแซมดำ แต่เมื่อหุบแล้วจะเป็นสีทอง
เกือบทั้งปีก ขนหางและหางข้างสีดำขอบทอง แข้ง-นิ้ว สีเหลือง เล็บสีขาว


สีเทา

 ลักษณะไก่แจ้สีเทาหรือเทาดำ


ไก่แจ้สีเทาหรือเทาดำ เทาพิราบ ตัวผู้ หน้า หงอน เหนียง ติ่งหูสีแดงสด ใบหงอนมีเม็ดทราย ตาสีแดงจัด
และส้มปนแดง สีน้ำตาลเข้ม จงอยปากเป็นสีดำหินชนวน หรือเทาเข้ม ขนทั่วตัวเป็นสีเทา สร้อยคอเป็นสีเทา
แต่สีจะเข้มกว่าสีตามตัวเล็กน้อย แข้ง- นิ้ว-เล็บเป็นสีเทา หรือ เทาอมดำ


ไก่แจ้ลายสร้อยดอกหมาก


ไก่แจ้ลายสร้อยดอกหมาก 

ลักษณะไก่แจ้ลายสร้อยดอกหมาก

ไก่แจ้ลายสร้อยดอกหมาก ตัวผู้ หน้า หงอน เหนียง ติ่งหู สีแดงสด ใบหงอน มีเม็ดทราย ตาสีแดงหรือส้มปนแดง
จงอยปากสีเหลือง ลำตัวสีดำ สีขนหัวและสร้อยคอและขนระย้าสีดำ ขลิบด้วยสีขาวปนสีเงินสว่างชัดเจน
ขนที่อกสีดำขอบเงิน เป็นลายข้าวหลามตัดคมชัด หางสีดำ ปีกสีดำ แข้ง-นิ้ว สีเหลือง เล็บสีขาว


ไก่แจ้สีขาว

ลักษณะไก่แจ้สีขาว

ไก่แจ้สีขาว ตัวผู้ หน้า หงอน เหนียง ติ่งหู สีแดงสด ใบหงอนมีเม็ดทรายหรือพื้นกำมะหยี่สีแดงสด
ตาสีแดงหรือส้มปนแดง จงอยปากเป็นสีเหลือง ขนและโคนขนทั้งตัวต้องมีสีขาวบริสุทธิ์
เหมือนปุยหิมะ ไม่มีสีอื่นปะปน น้ำขนแวววาว นิ้วสีเหลืองและเล็บเป็นสีขาว


สีกาบหมาก – ขาว


ลักษณะไก่แจ้สีกาบหมาก

ตัวผู้ – หน้า หงอน เหนียง ติ่งหู สีแดงสด ใบหงอนมีเม็ดทรายหรือพื้นกำมะหยี่
– ตาสีส้มปนแดงหรือสีเหลืองส้ม
– จงอยปาก สีขาว หรือ สีเหลือง หรือ ดำอมเหลือง
– ขนหัว สร้อยคอ ระย้า เป็นสีขาวไม่มีสีดำปน
– ขนหลังและหัวปีกทั้งสองข้างเป็นสีเหลืองอมขาวผสมดำ
– ปีกทั้งสองข้าง สีดำเหลือบเขียวปีกแมลงทับ
– สาบปีกเป็นสีขาวนวล
– ขนอก ใต้ท้อง เป็นสีดำ
– ขนหางทั้งหมด ตั้งแต่เครื่องคลุม หางพัด หางชัย เป็นสีดำเหลือบ เขียวปีกแมลงทับ
– บัวหงายเป็นสีดำ
– แข้ง นิ้ว เล็บ เป็นสีขาวนวล หรือเหลืองอมเขียว

ตัวเมีย – ขนตั้งแต่หัว ถึงสร้อยคอจะเข้มเป็นสีเทาอมน้ำตาล
– ใต้คอ หน้าอก ถึงใต้ท้อง เป็นสีครีมนวล
– สีตัวจนถึงเครื่องคลุม เป็นสีน้ำตาลอมดำ
– ใบหางพัดทั้งหมดเป็นสี ดำน้ำตาล
– แข้ง นิ้ว เล็บ เป็นสีขาวนวล หรือสีเหลือง
หรือ สีเหลืองอมเขียว


ไก่แจ้สีกาบหมาก เป็นสีที่หายากมากสีหนึ่ง เป็นไก่แจ้คู่กายของท่าน ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมท
ไม่ว่าท่านจะทำอะไรอยู่ที่ไหน จะเห็นไก่แจ้ไทยสีกาบหมากอยู่ข้างกายท่านเสมอ


สีกาบอ้อย – ครีม

ลักษณะไก่แจ้สีกาบอ้อย

ตัวผู้ – หน้า หงอน เหนียง ติ่งหู สีแดงสด ใบหงอนมีเม็ดทรายหรือพื้นกำมะหยี่
– ตาสีส้มปนแดงหรือสีเหลืองส้ม
– จงอยปาก สีขาว หรือ สีเหลือง หรือ ดำอมเหลือง
– ขนหัว สร้อยคอ ระย้า เป็นสีครีมอมน้ำตาล (น้ำตาลอ่อนมากดูเป็นสีนวล)
– โคนของเส้นขนสร้อยคอ และ ระย้าเป็นสีน้ำตาลอ่อน
– ขนหลังและหัวปีกทั้งสองข้าง เป็นสีน้ำตาลแดง
– ปีกทั้งสองข้างสีดำเหลือบเขียวปีกแมลงทับ
– สาบปีกสีน้ำตาลอ่อน
– ขนหน้าอก ใต้ท้อง เป็นสีดำมัน
– เครื่องคลุมอาจมีขลิบขอบ เป็นสีครีมนวล
– หางพัด หางชัย เป็นสีดำเหลือบเขียวปีกแมลงทับ
– บัวหงาย เป็นสีดำ
– นิ้ว เล็บ เป็นสีขาวนวล สีเหลือง หรือสีเหลืองอมเขียว


ตัวเมีย – ขนตั้งแต่หัวถึงสร้อยคอจะเข้มเป็นสีเทาอมน้ำตาล
– ใต้คอ หน้าอก ถึงใต้ท้อง เป็นสีน้ำตาลอ่อน
– สีตัวจนถึงเครื่องคลุม เป็นสีน้ำตาลอมดำ
– ใบหางพัดทั้งหมดเป็นสี ดำน้ำตาล
– แข้ง นิ้ว เล็บ เป็นสีขาวนวล หรือ สีเหลือง หรือ สีเหลืองอมเขียว


ไก่ป่า บรรพบุรุษของไก่แจ้

ไก่ป่า เริ่มจะเป็นสัตว์หายาก เพราะขณะนี้ตามป่าธรรมชาติใกล้สูญพันธุ์เต็มที ทั้งจากการบุกรุกป่า
และการล่าเพื่อเป็นอาหารและการค้า ไก่ป่าอาศัยตามป่าไผ่ ป่าดิบแล้งและป่าเต็งรัง หากินเป็นกลุ่มเล็ก ๆ
อยู่ตามพื้นป่า ตัวผู้ไม่ชอบร้องเหมือนตัวเมีย ในฝูงหนึ่งจะมีตัวผู้คุมตัวเมียหลายตัว ตัวผู้มักขันเป็นระยะ ๆ
โดยเฉพาะในช่วงตอนเช้าและพลบค่ำ หากินเวลากลางวันตามพื้นดิน บินได้ไม่ไกลและไม่สูงมาก
สร้างรังอยู่ตามพื้นดิน ตามกอหญ้า กอไผ่ วางไข่ 6-12 ฟอง ระยะฟักไข่ 21 วัน ลูกไก่แรกเกิด
มีขนอุยสีเหลืองสลับลายดำทั่วลำตัว เมื่อขนแห้งก็เดินตามแม่ไปหากินได้ทันที


ไก่ป่าตุ้มหูแดง

โดยทั่วไปไก่ป่าเพศผู้จะเริ่มสืบพันธุ์ได้เมื่ออายุ 2 ปี แต่ในเพศเมียจะสืบพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ 1 ปี
โดยมีช่วงการผสมพันธุ์ตั้งแต่เพือนพฤศจิกายน ถึง เดือนพฤษภาคม ในช่วงนี้ไก่ป่าเพศผู้จะมีสีสันสวยงามมาก


ไก่ป่าตุ้มหูขาว 


ไก่ป่าไทย (Red Junglefowl) จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า
พุทธศักราช 2535 สำหรับในประเทศไทย พบไก่ป่า 2 สปีชีส์ย่อย คือ

1. ไก่ป่าตุ้มหูแดง (Gallus gallus spadiceus) พบการกระจายพันธุ์ในพม่า, มณฑลยูนาน ในประเทศจีน
ในประเทศไทย ยกเว้นทางภาคตะวันออก, ลาวบางส่วน, มาเลเซีย และทางตอนเหนือของเกาะสุมาตรา

2. ไก่ตุ้มหูขาว (Gallus gallus gallus) มีการกระจายพันธุ์อยู่ทางภาคตะวันออกของไทย,
เวียดนาม, ลาว, กัมพูชา


ไก่ป่าตุ้มหูแดง

ทั้งสองชนิดย่อยมีข้อแตกต่างตรงที่ไก่ป่าตุ้มหูขาวจะมีลักษณะของขนบริเวณคอยาว และเนื้อบริเวณ
ติ่งหูมีขนาดใหญ่มีแต้มสีขาว ส่วนไก่ป่าตุ้มหูแดง ลักษณะของขนคอจะยาวปานกลาง
เนื้อบริเวณตุ้มหูมีขนาดเล็กและมีสีแดง ซึ่งตามหลักฐานทางชีวโมเลกุลแล้ว พบว่าไก่ป่าตุ้มหูขาวนั้น
เป็นบรรพบุรุษของไก่บ้านทั้งหลาย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *