ชินชิล่า วิลสัน

ชินชิลล่าเป็นสัตว์ฟันแทะที่ออกหากินตอนกลางคืน หน้าตาคล้ายหนูตะเภา แต่ตัวกลมปุ๊กปิ๊กและขนสั้น มีหางยาวคล้ายกระรอก สามารถกินได้ทั้งพืชผักผลไม้ ธัญพืช …

ถิ่นกำเนิด

                 ชินชิลล่า พบครั้งแรกในเทือกเขาแอนดีส แถบประเทศชิลี เปรู และโบริเวีย ในทวีปอเมริกาใต้ โดยเจ้าชินชิลล่านี้ จัดเป็นสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมในตระกูลที่ใช้ฟันกัดแทะทั้งหลาย (ประมาณพวกเดียวกับ กระรอก และตัวบีเวอร์) ต้นตระกูลของ ชินชิลล่ากำเนิดที่ความสูง 3,000-12,000 ฟุต จึงทำให้มันมีขนปุกปุยเหมือนขนเฟอร์เพื่อที่จะช่วยให้ร่ายกายของมัน คงความอบอุ่นจากสภาพอากาศที่หนาวเย็น แต่น่าแปลกที่แม้มีขนยาวปุกปุยมากเพียงไร เจ้าชินชิลล่าก็ไม่เคยมีเรื่องของหมัดเห็บมากวนใจแม้แต่น้อย ราวกับว่า ขนของมันถูกคุ้มกันอยู่อย่างนั้นแหละ มิน่าหล่ะ ในอดีตชินชิลล่า จึงถูกล่าเพื่อนำมาทำเสื้อผ้าขนสัตว์ที่มีราคาแพงลิบลิ่ว

 เจ้าชินชิลล่านี้ เริ่มแพร่หลายสู่ยุโรป หลังจากเมื่อครั้งที่ชาวสเปนเข้าไปยึดเผ่าอินคา พวกเขาได้เห็นหัวหน้าเผ่าอินคาสวมเสื้อคลุมขนสัตว์ที่แสนนุ่ม จึงสงสัยนักว่า เป็นขนอะไรกัน แล้วพวกเขาก็ได้พบกับเจ้าสัตว์ตัวเล็กขนปุกปุยที่หน้าตากึ่งกระต่าย กึ่งกระรอก กึ่งหนู และมีหางสั้น ๆ เป็นพวงสวย ที่เปรูชิลี และอาร์เจนตินา บ้างก็อาศัยอยู่บริเวณที่เป็นหินผา โดยบ้านของมันจะอยู่ตามซอกหินบนเขาสูง หรือบางทีชินชิลล่า ก็อาศัยอยู่ตามแนวป่าเช่นกัน ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ชินชิลล่า ถูกล่าอย่างบ้าคลั่ง กระทั่งเกือบสูญพันธุ์ไปทีเดียว รัฐบาลในประเทศต่างๆ เหล่านั้น พยายามเป็นอย่างหนักเพื่อที่จะอนุรักษ์มันไว้โดยออกกฎเหล็กห้ามการซื้อขาย หรือจับตัวชินชิลล่าลงมาจากภูเขา อันเป็นที่อยู่ของมัน กระทั่งเวลาผ่านไปนานทีเดียว กว่าประชาชนชินชิลล่าจะกลับคืนสู่จำนวนที่เป็นภาวะปกติ วิศวกรชาวอเมริกันเป็นคนแรกที่ได้รับอนุญาติให้นำชินชิลล่าจำนวน 11 ตัว (ตัวเมีย 3/ตัวผู้ 8) ออกนอกประเทศได้ โดยมีชินชิลล่าตายระหว่างเดินทางไป 1 ตัว และเกิดใหม่ 1 ตัว ซึ่งในตอนนั้นยังเชื่อกันว่า ชินชิลล่า เกือบจะสูญพันธุ์ไปจากโลก และพวกมันอาจจะมีรายชื่ออยู่ในลิสต์ของสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ด้วยจนกระทั่งในปี ค.ศ.1922 มัทธีอัส เอฟ. แชปแมน เป็นผู้ริเริ่มนำชินชิลล่ามาเลี้ยงดูและสามารถขยายพันธุ์ในกรงได้สำเร็จ ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าหนู หูกระต่ายก็กลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยมจนถึงทุกวันนี้

รูปร่างหน้าตา

                เจ้าชินชิลล่าเมื่อยามโตเต็มที่ จะมีความยาวประมาณ 15-20 เซนติเมตร ทั้งนี้ ไม่ได้รวมส่วนหางด้วยนะคะ และจะมีน้ำหนักเพศผู้ โตเต็มวัย ประมาณ 550-650 กรัม เพศเมีย น้ำหนักโตเต็มวัยประมาณ 650-700 กรัม ลักษณะโดยทั่วไปของมันคือ จะมีขนาดตัวย่อม ๆ  รูปร่างกะทัดรัด มีใบหูที่ใหญ่ ทำให้มันสามารถฟังเสียงได้รวดเร็ว ดวงตากลมโต สามารถรับภาพได้ในวงกว้างและชัดเจน แต่มีข้อเสียที่ว่า มันไม่สามารถที่จะกะระยะความสูงต่ำได้ สิ่งที่พิเศษของเจ้าชินชิลล่าอยู่ที่ดวงตาของมัน ซึ่งจะมีประสิทธิภาพสูงสุดในเวลากลางคืน หรือแม้กระทั่งอยู่ในที่มืดมิด มันก็สามารถมองได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้ เนื่องจากตามธรรมชาติแล้ว เจ้าชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่ออกหากินในเวลากลางคืนนั่นเอง อีกสิ่งพิเศษที่พระเจ้ามอบให้กับเข้าชินชิลล่า คือมันเป็นสัตว์ที่มีขนหนานุ่ม ในรูขุมขน 1 รู  ชินชิลล่าจะมีเส้นขนอยู่ประมาณ 60-80เส้นเลยทีเดียว เมื่อเปรียบเทียบกับสุนัขพันธุ์ที่ว่าขนดกนั้นจะมีเพียง 3-4 เส้นเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ บรรดาปรสิตภายนอกอย่างเห็บและหมัด จึงไม่สามารถย่างกายเข้าไปถึงชั้นของผิวหนังของมันได้ เจ้าชินชิลล่านั้นมี 2 สายพันธุ์ใหญ่ๆ ด้วยกัน คือ Clanigera (พันธุ์หางยาว) และ C. brevicaudata (พันธุ์หางสั้น) ส่วนสีสันของชินชิลล่า นอกจากจะมีลักษณะพิเศษที่สวยงามเฉพาะตัวแล้ว ยังจะเป็นตัวกำหนดราคาอีกด้วยล่ะครับ ซึ่งถ้าชินชิลล่าที่มีสีอ่อนและเป็นสีหายาก จะมีราคาแพงกว่าสีเข้ม สีที่มีราคาถูกที่สุดก็คือสี Standard Gray ส่วนสีที่มีราคาแพงคือสี Violet สีหลักๆ ของชินชิลล่าจะมี 3 เฉดสี ได้แก่ Tower Beige สีน้ำตาลอ่อน Wilson White สีขาวล้วน และสีดำ ส่วนที่เห็นว่า มีสีสันแตกต่างไปจากทั้ง 3 สีนี้ ก็เพราะเกิดจากการผสมพันธุ์ของทั้ง 3 สีนี้ จนทำให้ในปัจจุบัน ชินชิลล่ามีหลากสีสันมากขึ้น

นิสัย

                เจ้าชินชิลล่าตัวนี้ ส่วนใหญ่แล้ว มักชอบทำตัวเป็นเด็กขี้อ้อน ชอบให้อุ้ม ตกกลางคืนจะซนมาก แต่ว่าตอนกลางวันจะชอบแอบนอนในที่ต่างๆ และมันก็ชอบเล่นวงล้อจักรขนาดใหญ่ 12 นิ้ว คล้ายของแฮมสเตอร์ด้วยค่ะ ชินชิลล่าชอบแทะไม้ หรือบ้านไม้  ไม่ค่อยดุ ไม่กัด แต่ถ้ามันโกรธ หรือว่าไม่คุ้นกลิ่นคนแปลกหน้าขึ้นมามันจะชอบทำเสียงเห่าเบาๆ ประมาณว่าขู่ให้กลัว แต่ดูเหมือนจะกลายเป็นเสน่ห์ของมันอีกแบบมากกว่าค่ะ ยามที่มันอารมณ์ดี จะชอบกระโดดโลดเต้นไปมา ราวกับนักกายกรรมค่ะ หรือนักกระโดด แต่ขณะเดียวกันก็มีความสุภาพน่ารัก ฉลาดแสนซนค่ะ

                เจ้าชินชิลล่าจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงเลย ฉะนั้น ไม่ควรที่จะพามันไปไหนมาไหนบ่อยๆ เพราะมันจะเป็นสัตว์ที่ปรับสภาพเพื่อให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ช้ามากและมันเป็นสัตว์ที่ไม่ชอบอากาศที่ร้อนจัด หรือว่าอุณหภูมิเกิน 80 องศาฟาเรนไฮต์ ฮีดสโตกได้ค่ะ   นอกจากจะมีนิสัยขี้อ้อนแล้วชินชิลล่ายังเป็นสัตว์สังคมที่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ช่างสมาคม มันมักจะส่งเสียงเรียกร้องความสนใจ ถ้าคุณไม่ให้ความใส่ใจกับมันเท่าที่ควร และมักจะมาชวนคุณเล่นด้วยบ่อยๆ เป็นสัตว์ที่แคล่วคล่องว่องไว และมีอารมณ์ขันอีกต่างหาก เป็นสัตว์ที่รักสะอาด สามารถฝึกฝนให้ขับถ่ายเป็นที่เป็นทางได้ เนื้อตัวจะไม่มีกลิ่นเหม็นเลย

วิธีการเลือกซื้อ

                ในการเลือกซื้อชินชิลล่า ให้สังเกตที่จมูกจะต้องไม่มีน้ำมูก ถ้ามีแสดงว่าเป็นหวัด ขนตามตัวต้องหนา ฟ่องฟู อ่อนนุ่ม ดวงตาสุกใส แววตาเป็นประกาย ส่อถึงความกระตือรือร้น ปราศจากขี้ตา ถ้าฟันเป็นสีขาวจั๊วะแสดงว่าขาดวิตามิน อุจจาระถ่ายออกมาจะต้องเป็นก้อนแข็ง และไม่มีกลิ่นเหม็นด้วย

การเลี้ยงดู

                ชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่กินอาหารไม่จุ อาหารหลักของชินชิลล่า จะมีอาหารสำเร็จรูปชนิดเม็ด สำหรับชินชิลล่าโดยตรงเช่น อาหารเม็ดสำหรับชินชิล่า และอาหารที่โปรดปรานควรเป็นอาหารเสริมกินในช่วงอายุวัยที่เหมาะสม คือ ผลไม้อบแห้ง เช่น  ลูกเกดอบแห้ง  ลูกผับอบแห้ง  สตอเบอร์รี่อบแห้ง หญ้าอัลฟาฟ่า(Alfafa)ให้เสริมในวัยเด็ก และหญ้าทิโมธี (Timothray) ซึ่งหญ้าทั้ง 2 ชนิด เป็นหญ้าที่ผ่านการอบฆ่าเชื้อแล้ว รวมทั้งผลไม้สดบางชนิดก็ให้สัปดาห์ละครั้งได้ เช่น แอปเปิ้ลสดหั่นเป็นชิ้นพอดีคำโดยใช้ขาหน้าจับได้ค่ะ   ชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่รักสะอาด เขาจะทำความสะอาดร่างกายเอง วิธีการก็คือ ชินชิลล่าจะลงไปคลุกในฝุ่นภูเขาไฟ (Fuller’s Earth) ฝุ่นภูเขาไฟนี้จะจำหน่ายสำหรับชินชิลล่าโดยเฉพาะ ซึ่งมียาฆ่าเชื้อผสมไว้ด้วย  ชินชิลล่าเป็นสัตว์ที่ไม่นิยมให้อาบน้ำ   ดังนั้น วิธีการนี้ จะช่วยให้เนื้อตัวสบายเหมือนการอาบน้ำ เพราะฝุ่นภูเขาไฟนี้จะช่วยดูดความชื้นในขน และช่วยฆ่าเชื้อด้วยอีกต่างหาก

กรงเลี้ยง

                กรงที่เหมาะสมกับชินชิลล่านี้ ไม่ควรจะเล็กกว่า W.45xL.60xH.80cm. หรือขนาดกรงจะใหญ่กว่านี้ก็ได้ ภายในกรงจะแบ่งเป็นชั้น ๆ เพื่อให้เขากระโดดเล่น ภายในกรงประกอบด้วย ท่อใส เพื่อการมุดเล่น ภาชนะใส่อาหาร และ กระบอกน้ำ ห้องอาบน้ำเซรามิคเพื่อใส่ขี้เถ้าภูเขาไฟ ซึ่งต้องเป็นภาชนะที่ทำจากเซรามิค, แก้ว, โลหะ จะคงทนต่อการกัดแทะ ส่วนกรงจะต้องปูรองด้วยขี้เลื่อย หรือเยื่อกระดาษ เพื่อรองรับของเสีย และเอาไว้ให้เขาซุกซ่อนตัวเล่นได้ด้วย

การผสมพันธุ์

                ชินชิลล่าที่เลี้ยงไว้ สามารถให้กำเนิดลูกได้ตามปกติ อายุเหมาะสมสำหรับตัวผู้คือ 5 เดือน ส่วนตัวเมีย 8 เดือน ชินชิลล่าไม่จำเป็นต้องอาศัยพ่อสื่อแม่ชักกันหรอกนะคะ  เพราะว่าจะเลือกคู่ของมันเอง อย่าได้ไปริไปเที่ยวคลุมถุงชนให้กับมันเชียวนะคะ เพราะถ้าหากคู่ใดที่เราจับรวมกันแล้ว มันจะไม่พอใจกันแทนที่จะเกิดเป็นคู่รัก  ก็จะกลายเป็นสนามต่อสู้ขึ้นมาทันที  เมื่อทั้งคู่ไม่ยินยอมพร้อมใจ หรือไม่ถูกชะตากัน ผู้เลี้ยงต้องจับทั้งคู่แยกออกจากกัน และรีบเปลี่ยนคู่ใหม่มาให้มันทันที จนกว่ามันจะพอใจ

                หลังจากที่ลงเอยกันเรียบร้อยแล้ว ตัวเมียที่ได้รับการผสมจะตั้งท้องประมาณ 4 เดือน ซึ่งผู้เลี้ยงจะสังเกตได้จากตัวเมียจะมีอาการซึมไปจากปกติ  โดยเจ้าชินชิลล่านี้จะมีการสืบพันธุ์เพียงปีละครั้ง และจะตกลูกครั้งละ 1-4 ตัว โดยเฉลี่ย 1-2 ตัวเท่านั้นค่ะ

                เนื่องจากเจ้าชินชิลล่านั้นต้องการความเอาใจใส่ หากคุณคิดจะเลี้ยงมัน ก็ต้องให้เวลาและความรักกับมันมากๆนะคะ ให้สมกับการต้อนรับอาคันตุกะผู้เยือนกันเลยทีเดียว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *