ปูแสมก้ามแดง (Red Claw Mangrove Crab)

ในครั้งนี้ ผมจะมาแนะนำสัตว์ชนิดหนึ่งที่มีขนาดเล็กและเลี้ยงง่าย ซึ่งหลายๆ คนอาจจะคาดไม่ถึงว่ามีสัตว์ชนิดนี้อยู่ด้วยในวงการสัตว์เลี้ยง วันนี้ เราจะมารู้จักกับ ปูแสมก้ามแดงกัน

ข้อมูลคร่าวๆ
       ปูแสมก้ามแดง (Red Claw Mangrove Crab; Pissiderma Bidens)  เป็นปูขนาดกลางยาวถึง 7 เซนติเมตร ที่พบในแถบทะเลอินโดแปซิฟิก มักพบตามป่าริมหาด ป่าชายเลน ปากแม่น้ำ หาดเลนและหาดทรายตามสถานที่ต่างๆ พบได้ตั้งแต่โอกินาว่าจนใต้สุดถึงปาปัวนิวกีนี เป็นปูที่มีพฤติกรรมหากินกลางคืน มีจุดเด่นคือก้ามสีแดงสด และมีขาสองคู่ที่วิ่งได้รวดเร็ว ปูแสมก้ามแดงนั้นปัจจุบันเพาะขยายพันธุ์ได้ในสถานีเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของไทย และไม่จัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง 
       พฤติกรรมของปู มักเป็นสัตว์ขี้อายที่ไม่ชอบการสัมผัส การจับเล่นบ่อยๆ อาจจะทำให้ปูบาดเจ็บหรือติดเชื้อโรคจากมนุษย์ได้ ปูแสมก้ามแดงก็เหมือนปูในริมชายทะเลชนิดอื่นๆ จำเป็นต้องมีน้ำตื้นๆ เพื่อให้เหงือกชุ่มชื้น แต่ก็ไม่ลงแช่น้ำนานๆ และมักจะเดินไปมาหาอาหารบนบกมากกว่า 
       ในรูปที่มีการแนบนี้ เป็นปูแสมก้ามแดงอายุ 1  ปี หากเลี้ยงดีๆ อายุไขอยู่ได้ถึง 7 ปี

ขนาดที่เลี้ยงและสภาพแวดล้อม
เนื่องจากปูแสมเป็นสัตว์ที่อาศัยสลับไปมาทั้งบนบกและในน้ำ ที่เลี้ยงจึงต้องมีดินให้ขุดรูอาศัยและต้องมีกระบะน้ำให้ลงไปแช่น้ำได้ยามต้องการ ควรจะมีพื้นที่ขึ้นลง และปูนั้นกินพืชด้วย จึงควรจะมีการปลูกพืชที่ไม่เป็นพิษต่อปูด้วย พืชบางชนิดที่ปูไม่กิน หากใหญ่พอก็จะทำให้ปูได้ใช้ฝึกปีนป่าย ขนาดของตู้เลี้ยงสามารถใช้ได้ตามความหนาแน่นของจำนวนปูที่เลี้ยง และควรระวังว่า หากปูตัวผู้อยู่ด้วยกัน อาจจะทำร้ายทะเลาะกันได้ 
(สำหรับวิธีดูเพศ ให้ดูที่กระทู้ “การจำแนกเพศปูและการผสมพันธุ์”)


       เนื่องด้วยปูแสมก้ามแดงอาศัยอยู่ริมปากแม่น้ำที่ติดทะเล น้ำควรจะผสมเกลือจำนวนหนึ่งเพื่อไม่ให้จืดเกินไปกันไม่ให้ปูอายุไขสั้นลง สำหรับสูตรการผสม ให้ดูว่าน้ำจืดหนึ่งถ้วยน้ำจิ้ม ใช้เกลือทะเลเพียง 1/4 ช้อนชาผสมให้เข้ากันดี ระวังอย่าใช้เกลือไอโอดีน จากประสบการณ์ ปูของผมเสียชีวิตไปตัวหนึ่งเพราะได้รับพิษไอโอดีนมากเกินไปบวกกับเกิดสภาวะน้ำเป็นพิษ ต้องเปลี่ยนน้ำหนึ่งครั้งต่อสัปดาห์
*ปูแสมก้ามแดงเก่งกาจเรื่องการหลบนี้ ควรมีฝาปิดหรือตาข่ายปิดมิดชิดกันการหลบหนี

  อาหาร
       ปูแสมก้ามแดงกินทั้งพืชและสัตว์แถมยังกินซากสัตว์หรือตะกอนดินด้วย สามารถให้เป็นอาหารได้ดังนี้

  1. ปลาหั่นชิ้นและกุ้งชิ้น
  2. ผักกาด คะน้า กวางตุ้งต้ม
  3. อาหารสำเร็จรูปของสัตว์น้ำมีเปลือก หาซื้อได้ตามร้านขายอุปกรณ์ปลาสวยงาม 
  4. พืชน้ำ
  5. แมลง ไส้เดือนน้ำ ไรทะเล (ให้เสริมได้ในบางครั้ง)
  6. กระดองปลาหมึก เป็นส่วนที่แข็งในลำตัวของหมึกกระดอง ปูจะกินเพื่อเสริมแคลเซี่ยมตอนลอกคราบ
     
    อาหารที่ควรระวัง มีดังนี้
  7. กระเทียม หอม กุ้ยช่าย มีกำมะถันเป็นพิษต่อสัตว์
  8. องุ่น ผลไม้น้ำตาลสูง ปูกินมากๆ อาจจะเกิดสภาวะเลือดเป็นพิษจากการต้องแบกรับน้ำตาลปริมาณมากได้ และปูยังอาจจะเกิดปัญหากับระบบประสาทได้
  9. กาแฟ ชา น้ำมีคาเฟอีน
  10. อาหารที่มีแป้งหรืออาหารสำเร็จรูปของมนุษย์
     
       การเข้าคราบ
    โดยธรรมชาติของสัตว์น้ำมีเปลือก การลอกคราบคือการเจริญเติบโต เราสังเกตได้ว่าเมื่อปูเข้าคราบ จะเริ่มอดอาหารเพื่อเตรียมกักตุนพลังงานไปสร้างร่างกายใหม่ใต้เปลือก ปูจะเริ่มหาที่หลบซ่อนที่อับแสงและเริ่มลอกคราบจนเสร็จ อย่าทิ้งคราบปูเพราะบางครั้งปูจะกินคราบตัวเองกลับเข้าไปเป็นอาหารเสริม โดยสำหรับปูแสม พวกมันลอกคราบบนบกเสียมากไม่เหมือนปูที่อาศัยในน้ำตลอดชีวิต ให้ระวังและคอยสังเกต ปูที่อยู่ด้วยกันบางทีจะกินตัวที่เข้าคราบไปด้วย ต้องแยกตัวที่จะเข้าคราบออกไปใส่กล่องอื่น อย่าจับปูที่กำลังลอกคราบและลอกคราบเสร็จแล้วเพราะร่างกายของมันจะนิ่มจนไม่ทนแรงกระแทกได้ ให้รอจนกว่าสีซีดของปูกลายเป็นสีเข้มสดใส่ก่อนจึงค่อยย้ายกลับลงมาในที่เลี้ยง ให้ใส่น้ำตื้นๆ ในอ่างพยาบาลด้วยโดยไม่ต้องลึกมาก ดูหนังชนโรง
     
            ปูแสมก้ามแดงถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจของผู้เลี้ยงสัตว์ที่มีพื้นที่น้อย เพราะขนาดตัวเล็กและไม่มีภาระมากหากหมั่นดูแลอย่างเต็มที่ ปูของท่านจะมีสุขภาพดีและแข็งแรง แถมยังเพลิดเพลินเมื่อได้สังเกตพฤติกรรมของพวกมันด้วย 


Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *