สุนัขบางแก้ว

สุนัขบางแก้ว : ขึ้นทะเบียนเป็นสุนัขโลก มารู้จักข้าราชการปศุสัตว์ที่ทำให้เป็นที่รู้จัก

getty
คำบรรยายภาพ,หูตั้ง ขนหนา หางตั้งเป็นพวง ปากแหลม ลักษณะเด่นของสุนัขพันธุ์บางแก้ว

29 สิงหาคม 2022

สุนัขไทยพันธุ์บางแก้วที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่บ้านบางแก้ว อ.บางระกำ จ.พิษณุโลก ได้รับการจดทะเบียนเป็นสุนัขโลกจากคณะกรรมการสมาพันธ์สุนัขโลก (FCI) เมื่อกลางปีที่ผ่านมา เป็นสุนัขพันธุ์ไทยลำดับที่ 2 ต่อจากสายพันธุ์ไทยหลังอาน

สุนัขพันธุ์ไทยบางแก้วได้ รับการรับรองแบบชั่วคราว จากสมาพันธ์สุนัขโลกเมื่อปี 2554 แต่การขึ้นทะเบียนครั้งนี้ เป็นการบรรจุเป็นสุนัขสายพันธุ์ใหม่ของโลกแบบถาวร

“น้องหมาพันธุ์บางแก้ว” เป็นที่รู้จักมานานของคนรักสุนัข ประวัติความเป็นมาของการกำเนิด งานศึกษาตีพิมพ์ในวารสารสัตวแพทย์ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า ข้อมูลส่วนใหญ่เป็นคำบอกเล่าของคนรุ่นปัจจุบันที่สืบต่อกันมาซึ่งสรุปได้ว่า บรรพบุรุษรุ่นแรกของสุนัขไทยสายพันธุ์บางแก้ว ถือกำเนิดเมื่อราวปี 2405 และเป็นลูกผสมระหว่างสุนัขบ้านพันธุ์ไทยและสุนัขป่าหรือสุนัขจิ้งจอกที่เลี้ยงโดยอดีตเจ้าอาวาสวัดบางแก้ว

ทว่าการเลี้ยงสุนัขบางแก้วก็เป็นสัตว์เลี้ยงของชาวบ้านบ้านบางแก้วและตำบลใกล้เคียงเป็นต้นมา กระทั่งมีเจ้าหน้าที่กรมปศุสัตว์ เข้าไปพัฒนาและคัดเลือกสายพันธุ์ และนำออกแสดงนอกชุมชนจนสุนัขบางแก้ว เป็นที่รู้จักของโลกภายนอก

นายสัตวแพทย์นิสิต ตั้งตระการพงษ์ อดีตปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก ซึ่งเป็นที่รู้จักในชุมชนผู้เพาะเลี้ยงสุนัขบางแก้วว่า เป็น “ผู้จุดประกายหมาบางแก้ว” และเขียนตำราวิชาการเกี่ยวกับสุนัขสายพันธุ์นี้หลายสิบเล่ม เปิดเผยเรื่องราวของการทำให้สุนัขบางแก้วเป็นที่รู้จักเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2525 หรือเมื่อ 40 ปีที่แล้ว

“ดีใจ ก็บอกเขา (ผู้เพาะเลี้ยง) ทุกคนล่ะ ว่าต่อไปนี้ ไม่ใช่เป็นหมาของพิษณุโลกแล้วนะ มันเป็นหมาของประเทศไทย เป็นหมาของโลกไปแล้ว เราต้องยึดตรงนี้ไว้ว่า พิษณุโลกเป็นเจ้าของถิ่นกำเนิด”

นายสัตวแพทย์นิสิต ในวัย 80 ปี เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า เขาไปรับราชการที่พิษณุโลกเมื่อปี 2514 ตอนนั้น สุนัขพันธุ์บางแก้วเป็นที่รู้จักแค่ไหนพิษณุโลกเท่านั้น แต่ในพื้นที่รู้กันว่าเป็นสุนัขสายพันธุ์ดี ที่มีลักษณะพิเศษคือ “ความดุ” รูปร่างสวยงาม รักเจ้าของ นสพ. นิสิตเล่าว่า ใครที่จะขอลูกสุนัขบางแก้วไปเลี้ยง ต้องแลกด้วยลูกกระสุนปืน 1 กล่อง

“เมื่อปี 2514 เป็นป่า รถไปลำบาก ต้องไปทางเรือ ไปเอาหมามันก็ยาก ตอนนั้นไม่มีการซื้อขายนะ แลกกันด้วยปืนลูกซอง 300 บาท ต่อหมาตัวนึง”

คณะเกษตรศาสตร์ ม.นเรศวร
คำบรรยายภาพ,นายสัตวแพทย์นิสิต ตั้งตระการพงษ์ อดีตปศุสัตว์จังหวัดพิษณุโลก

นสพ. นิสิต เล่าว่า เมื่อได้เป็นปศุสัตว์จังหวัด จึงอยากอนุรักษ์สายพันธุ์ของบางแก้วไว้ เขาและเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอ จึงเข้าไปสำรวจหมู่บ้าน เวลานั้น หมู่บ้านที่พบสุนัขบางแก้ว โดดเด่นกลับเป็น บ้านชุมแสงสงคราม ตำบลไม่ไกลนักจากบ้านบางแก้ว มีการนำสุนัขไปประกวดครั้งแรกในงานนเรศวรมหาราชและงานกาชาดของจังหวัดพิษณุโลกปี 2523 อีกสองปีถัดมาเมื่อได้รับงบประมาณจากจังหวัด จึงเริ่มต้นการคัดเลือกและพัฒนาสายพันธุ์ รวมทั้งค้นหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์คุณภาพดี ขึ้นทะเบียนจนเป็นต้นกำเนิดอีกจุดที่สุนัขสายพันธุ์บางแก้วเป็นที่รู้จักหลังจากนั้นเป็นต้นมา

นสพ. นิสิต เล่าว่าตอนนั้น เจ้าหน้าที่เดินเท้าสำรวจในหมู่บ้าน เพื่อค้นหาพ่อพันธุ์ 25 ตัว แม่พันธุ์ 70-80 ตัว นำมาจดทะเบียนบันทึกเพื่อคัดเลือกพันธุ์

“ที่ชุมแสงสงคราม เรานัดให้เอาหมามารวมกัน เราเดินดูหมาในหมู่บ้าน เอ้อ ตัวนี้ไม่ควรเลี้ยง จับตอนนะ เอาเฉพาะที่มันเข้าลักษณะ ถือว่าชุมแสงสงคราม หมู่ที่ 2 เป็นกลุ่มที่ช่วยให้หมาบางแก้วเจริญขึ้นมาได้”

ส่วนความนิยมในสุนัขพันธุ์บางแก้ว นสพ.นิสิต เล่าว่า เมื่อครั้งนำมาจัดแสดงที่งานกาชาดครั้งแรก “มีคนสนใจเยอะขนาดที่หาซื้อลูกหมาไม่ได้ จะซื้อแม่พันธุ์หมา แล้วซื้อตัวละ 10,000-20,000 บาท”

จุดเปลี่ยนของสุนัขพันธุ์บางแก้วเกิดขึ้น เมื่อ “ความดุ” ขายไม่ได้

getty

“หูตั้ง ขนหนา หางตั้งเป็นพวง ปากแหลม” คือลักษณะเด่นของสุนัขพันธุ์บางแก้วที่ นสพ.นิสิต บอกว่า แตกต่างจากสุนัขพันธุ์ไทยทั่วไป

ตลาดซื้อขายพันธุ์บางแก้วระยะแรก ผู้ซื้อมักจะนำบางแก้วไปเฝ้าสวนเฝ้าไร่ กระทั่งในพื้นที่ภาคใต้ยังเดินทางซื้อที่พิษณุโลก แต่ทว่า “ความดุ” ของบางแก้วเริ่มได้รับความนิยมลดลง เมื่อตลาดเริ่มเข้าสู่การซื้อเพื่อนำไปเลี้ยงตามบ้าน

“เมื่อปี 2538 ความดุเริ่มขายไม่ได้ จึงได้แยกสายพันธุ์ที่ไม่ดุ” นสพ. นิสิตกล่าว และบอกว่าปีนั้นก็เริ่มให้ความรู้กับคนเพาะเลี้ยง ดูจากพ่อแม่พันธุ์เป็นหลักเพื่อพัฒนาให้สายพันธุ์บางแก้วมีความเชื่องลง

ในวัย 80 ปี ของ นสพ. นิสิต เขาบอกว่า วงการเพาะพันธุ์ลูกสุนัขบางแก้ว มีผู้เชี่ยวชาญที่ความรู้มากมาย และสิ่งที่จะทำให้สุนัขสายพันธุ์นี้มีชื่อเสียงต่อไป คือ การเพาะพันธุ์ที่ถูกตามหลักวิชาการ

“ไม่ห่วงอะไรแล้ว สายพันธุ์ โอเคแล้ว หลักเกณฑ์ที่เขียนตามตำรา อย่าเพี้ยนตำรานั้นเอง จะทำให้เราอยู่ได้ตลอดไป”

ด้านสามารถ สิงห์โตทอง นายกชมรมสุนัขไทยพันธุ์บางแก้วประเทศไทย และเจ้าของฟาร์มที่ จ.พิษณุโลก กล่าวว่าปัจจุบัน สุนัขพันธุ์บางแก้ว มีฟาร์มเพาะเลี้ยงเกือบทุกจังหวัดทั่วประเทศ อีกทั้งองค์ความรู้ก็สามารถเข้าถึงได้หลายช่องทาง แต่ทุกวันนี้ ในพิษณุโลกเอง จำนวนฟาร์มลดลงไปมาก เนื่องจากอายุของเจ้าของฟาร์มเองและภาวะเศรษฐกิจ

สามารถ ซึ่งเป็นเจ้าของสุนัขที่ประกวดได้แชมป์ยุโรปที่ประเทศเบลเยียมเมื่อปี 2015 กล่าวว่า ก่อนพันธุ์บางแก้วได้รับการรับรองเป็นสุนัขโลก มีการรับรองขึ้นทะเบียนชั่วคราวทำให้สามารถส่งออกต่างประเทศและนำไปประกวดได้ เขาเห็นว่าการได้รับขึ้นทะเบียนส่งผลดีต่อประเทศไทยที่คล้ายได้จดลิขสิทธิ์ที่ประเทศอื่นก็เอาไปไม่ได้ 

สามารถ สิงโตห์ทอง
คำบรรยายภาพ,เจ้าภูหิน สุนัขไทยบางแก้วของสามารถ สิงห์โตทอง

“จุดเด่นของบางแก้วสมัยก่อน นิยมเลี้ยงเฝ้าบ้าน เพราะเมื่อก่อนบางแก้วดุมาก ดุขึ้นชื่อ หลัง ๆ มาเริ่มพัฒนาคัดสาย เช่น พ่อแม่ที่ไม่ดุ เราก็พัฒนาไปแบบนั้น เพื่อไม่ให้จิตใจก้าวร้าว เพราะสนามประกวดที่กุรงเทพฯ เวลาประกวด ต้องตรวจฟัน ไข่ ดูโครงสร้าง ถ้าจับตัวไม่ได้ ขู่เขา เขาไล่ออกจากสนาม แต่เดี๋ยวนี้บางแก้วอารมณ์ดีขึ้นมาเยอะ สามารถประกวดได้จับตัวได้”

สำหรับสมาพันธ์สุนัขโลก คือองค์กรกลางที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการรักษากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวกับมาตรฐานสายพันธุ์สุนัขเพื่อให้ประเทศสมาชิกยึดถือปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน เช่น การรับรองมาตรฐานสายพันธุ์สุนัข การรับรองการประกวดของประเทศสมาชิก การรับรองกรรมการผู้ตัดสินของประเทศสมาชิก

ปัจจุบัน FCI มีสมาชิกทั้งหมด 98 ชาติ มีสุนัขที่ได้รับรองมาตรฐานสายพันธุ์โดย FCI แล้ว 355 สายพันธุ์

ส่วนสุนัขพันธุ์ไทยหลังอาน ได้รับการบรรจุการขึ้นทะเบียนเป็นสุนัขสายพันธุ์ใหม่ของโลกเมื่อปี 2546

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *